ผู้เขียน: Damrongsak

  • สมาคมผู้ดูแลเว็บไทย จัดเวิร์กช็อปใหญ่ด้านดิจิทัลส่งท้ายปี

    สมาคมผู้ดูแลเว็บไทย จัดเวิร์กช็อปใหญ่ด้านดิจิทัลส่งท้ายปี

    สมาคมผู้ดูแลเว็บไทย ร่วมกับ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, บริษัท เอ็กซอนโมบิล จำกัด, ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ Young Webmaster Camp ครั้งที่ 17 เจาะลึกวิชาชีพเว็บมาสเตอร์และวงการดิจิทัลภายใต้หัวข้อ “Social Change, Arrange The World – มิติใหม่ เว็บสร้างสังคม” เปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษา ทั่วประเทศที่มีใจรักในการทำเว็บไซต์ ได้เข้าร่วมอบรมจากกูรูมืออาชีพ และลงมือปฏิบัติจริงในการสร้างเว็บไซต์ พร้อมส่งผลงานประชันไอเดียสุดสร้างสรรค์

    สมาคมผู้ดูแลเว็บไทยจัดเวิร์กช็อปใหญ่ด้านดิจิทัล “YWC17” ส่งท้ายปี มุ่งปั้นนักศึกษาเข้าสู่วงการ

              นายวโรรส โรจนะ นายกสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย เปิดเผยว่า “ในยุคของ Digital Disruption ที่เทคโนโลยีสามารถเปลี่ยนแปลงการทำธุรกิจ และพฤติกรรมของมนุษย์อย่างรวดเร็ว จึงเป็นโอกาสอันดีที่เราจะสามารถใช้เทคโนโลยีในปัจจุบันแก้ไขปัญหาสังคมหลายๆ อย่าง พร้อมทั้งพัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคมให้ดีขึ้น อย่างที่ไม่สามารถทำมาก่อนได้ นี่จึงเป็นที่มาของธีมค่ายในปีนี้ “Social Change, Arrange The World – มิติใหม่ เว็บสร้างสังคม” ซึ่งเราหวังว่าจะเป็นการจุดประกายความคิด และเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ที่ตั้งคำถามกับหลายๆ ปัญหาในสังคม ให้ลุกขึ้นมาใช้ความสามารถ และความคิดสร้างสรรค์เปลี่ยนโลกให้น่าอยู่ขึ้นด้วยมือของเขาเอง”

              โครงการ YWC ได้สร้างผลิตผลเข้าสู่วงการดิจิทัล อุตสาหกรรมไอที ภาคแรงงาน จนถึงธุรกิจสตาร์ทอัปอย่างต่อเนื่อง โดยนักศึกษาที่ผ่านการคัดเลือกทั้ง 80 คน จะได้เรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ จากพี่ๆ ในวงการออนไลน์และดิจิทัลอย่างใกล้ชิด ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งประสบการณ์เรียนรู้จริง ที่สมาคมผู้ดูแลเว็บไทย ได้ออกแบบกิจกรรมเรียนรู้ และปรับเนื้อหาให้สอดคล้องต่อสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อให้นิสิต นักศึกษาจากทั่วประเทศที่ได้รับคัดเลือก ได้เรียนรู้เทคนิคใหม่ๆ จากกูรูผู้เชี่ยวชาญและวิทยากรชื่อดังในวงการออนไลน์ เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่สนามอาชีพด้านดิจิทัลออนไลน์ในอนาคต

              ด้าน นางสาวศิรณัชชา วุฒิประพันธ์พงศ์ ผู้จัดการ โครงการ Young Webmaster Camp ครั้งที่ 17 กล่าวว่า “ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการนี้ ได้ติดอาวุธทางปัญญา เพิ่มพูนความรู้ สร้างเสริมขีดความสามารถและจริยธรรมในการประกอบวิชาชีพเว็บมาสเตอร์ ให้กับนิสิต นักศึกษาทั่วประเทศแล้วกว่า 1,000 คน และในครั้งที่ 17 นี้ มีผู้สนใจกรอกใบสมัครเข้าร่วมโครงการกว่า 902 คน ซึ่งผ่านการพิจารณาจากแบบทดสอบและสัมภาษณ์จากคณะกรรมการเหลือเพียง 80 คนเท่านั้น”

    ผู้เข้าร่วมกิจกรรมกำลังเพลิดเพลินไปกับเวิร์กช็อปเจาะลึกวิชาชีพเว็บมาสเตอร์และวงการดิจิทัล YWC17

              ตลอดระยะเวลาโครงการ 4 วัน 3 คืน ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับการฝึกอบรมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิในแวดวงดิจิทัลหลากหลายท่าน อาทิ นายขจร เจียรนัยพานิชย์ หรือ Khajochi แห่ง Zero Publishing, นายอินทนนท์ ปัญญาโสภา ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Grappik, นายจักรพงษ์ คงมาลัย จาก Moonshot Digital ที่จะมามอบความรู้ แนะนำทักษะ และถ่ายทอดประสบการณ์การทำงานในสาขาต่างๆ อย่างใกล้ชิด ผู้อบรมจะได้ร่วมเรียนรู้ ฝึกทักษะ ได้รับประสบการณ์ตรงจากคนดิจิทัล กิจกรรมบรรยายเเต่ละสาขาเเบบเจาะลึก กิจกรรมระดมความคิด ลงพื้นที่เก็บข้อมูล ในการคิดออกแบบโครงงาน และนำเสนอผลงานจริงต่อคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในวันปิดโครงการอีกด้วย

              ส่วน นายณัฏฐชัย เลาหชัย Solution Advisor บริษัท เอ็กซอนโมบิล จำกัด ผู้สนับสนุนหลักของโครงการกล่าวว่า “ปัจจุบันนี้ในเทคโนโลยีได้เข้าไปเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจในหลากหลายอุตสาหกรรม ดังจะเห็นได้จากการที่หลายๆ บริษัทเริ่มปรับตัว นำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในสายการทำงาน ดังนั้นการที่น้องๆ ได้มีโอกาสมาเข้าร่วมค่ายที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัลจะเป็นพื้นฐานสำคัญที่ช่วยเพิ่มโอกาส สร้างความแตกต่างให้กับโปรไฟล์ ซึ่งจะตอบโจทย์กับสิ่งที่บริษัทเอกชนกำลังมองหา”

    สมาคมผู้ดูแลเว็บไทยและพันธมิตรจัดเวิร์กช็อปใหญ่ด้านดิจิทัล “YWC17” ส่งท้ายปี มุ่งปั้นนักศึกษาเข้าสู่วงการ

              ในช่วงท้ายผู้เข้าร่วมกิจกรรมรับฟังบรรยายพิเศษจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ในหัวข้อ “การทำงานในวงการดิจิทัล” บอกเล่าประสบการณ์ แนะแนวทางในการทำงานให้มีทั้งความสุขและความท้าทายไปพร้อมกันๆ และหัวข้อ “จริยธรรมและกฎหมายควรรู้ในยุคดิจิทัล” สิ่งที่คนทำเว็บควรต้องรู้ เพื่อไม่ให้ตัวเองทำผิดกฎหมาย

              “กิจกรรมที่จัดขึ้นในครั้งนี้ได้รับความสนใจจากนิสิต นักศึกษาทั่วประเทศเป็นจำนวนมาก ถือเป็นตัวอย่างสำคัญของการเปิดพื้นที่ให้น้องๆ ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน แสดงออกอย่างสร้างสรรค์ เพื่อพัฒนาตนเองให้เป็นพลเมืองดิจิทัลที่มีความรู้ความสามารถ อันจะเป็นรากฐานสำคัญที่จะช่วยยกระดับเศรษฐกิจไทยในอนาคต” นางสาวศิรณัชชา กล่าวปิดท้าย

  • ลอยกระทงปีนี้ ฉันขอ…..

    ลอยกระทงปีนี้ ฉันขอ…..

                เสียงอึกทึกกึกก้องดังทั่วโค้งน้ำ พื้นดินที่แห้งผาก พื้นหญ้าที่ชุ่มชื่น ลำคลองที่เคยเป็นแค่ทางเดินผ่าน กลับกลายเป็นแม่เหล็กขนาดใหญ่ดึงดูดผู้คนทั่วทุกสารทิศให้มาใช้ชีวิตร่วมกัน ใช่ วันนี้แหละ วันที่น้ำเต็มตลิ่งอันเนื่องมาจากแรงดึงดูดของดวงจันทร์ วันที่คนไทยเรียกว่า “วันลอยกระทง”

                ดรศ ทอดกายลงข้างสระน้ำจุฬา สายตาเหลือบมองแสงเทียนจากกระทงที่ค่อยๆ เคลื่อนที่ตามแรงลมแสงนั่นสะท้อนสระน้ำ สะท้อนกำแพง สะท้อนวิถีชีวิตของผู้คนในงานเทศกาล ทั้งยังขับแสงสีเหลืองทองทำให้บรรยากาศที่มืดมิดกับสุกสกาวสวยงามสมดังเป็นเดือนเพ็ญ เสียงจ้อกแจ้ก​ จอแจจากผู้คน และเสียงเพลงบรรเลงจากอีกฟากฝั่งหนึ่งของงานทำให้ที่แห่งนี้คลื่นเคล้งมากยิ่งขึ้น

                แต่สิ่งที่ดีต่อใจมากที่สุดของ ดรศ หาใช่บรรยากาศไม่ แต่เป็นการได้พบเจอผู้คนมากหน้าหลายตา ได้พูดคุย ได้แลกเปลี่ยนความคิดซึ่งกันและกันต่างหากที่ ดรศ เรียกว่า “ดีต่อใจ” ยิ่งเป็นคนที่คิดใกล้เคียงกันแล้ว มีสนามแห่งประสบการณ์ร่วมกัน (Filed of Experience) แล้ว ยิ่งทำให้เกิดการพัฒนาความสัมพันธ์ พัฒนาความสนิทสนมแบบก้าวกระโดด

                คุยอันนี้ก็ถูกคอกัน คุยเรื่องนี้ก็เห็นตรงกัน หรือแม้บางเรื่องจะเห็นไม่ตรงกันเลยแต่ก็ถือว่าเราได้รับทัศนะใหม่ๆ เข้ามาในชีวิต เรื่องแบบนี้ถือเป็นการฝึกการเปิดใจ เปิดรับความคิดเห็นจากผู้อื่นได้มากขึ้น

    แป็ปๆ ก็ต้องแยกย้ายแล้วหรอ นี่ละน่าที่เขาชอบพูดกันว่า “เวลาแห่งความสุขมักผ่านไปเร็วเสมอ” แต่ก็ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่จะต่อยอดสิ่งที่สวยงามต่อไป

    ดรศ
  • ประสบการณ์เตรียมงาน Barcamp CHA-AM ในเวลา ~12 ชั่วโมง

    ประสบการณ์เตรียมงาน Barcamp CHA-AM ในเวลา ~12 ชั่วโมง

    Barcamp CHA-AM คือวาระซ่อนเร้นที่แฝงตัวอยู่ในกิจกรรมค่าย Thailand ICT Camp 2019 คนเข้าร่วมไม่รู้มาก่อน (เพราะใช้ชื่ออื่น) คนจัดก็เพิ่งไหวตัวทันตอน 12 ชั่วโมงสุดท้าย (เพิ่งมีเวลา) งานไฟไหม้จึงบังเกิดขึ้น

    เมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ดรศ ได้มีโอกาสร่วมงานกับพี่ๆ มูลนิธิกองทุนไทย ในการเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือการดำเนินกิจกรรมค่าย Thailand ICT Camp 2019 มีหน้าที่หลักคือคอยช่วยเหลือวิทยากรประจำห้อง อำนวยความสะดวกให้กับผู้เข้าร่วมค่าย ฯลฯ

    ประเด็นของค่ายนี้คือ ทำให้ทุกคน ไม่ว่าจะมาจาก หน่วยงานของรัฐ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร หรือ ผู้สนใจทั่วไปก็ตาม ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ พร้อมทั้งเสริมทักษะทางด้านดิจิทัลเพื่อนำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม ต่อชุมชน หรือแม้กระทั้งองค์กรของตนเอง ผ่านการอบรมจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงได้มีโอกาสลงมือปฏิบัติจริง (Workshop) ทำผลงานออกมาให้ทุกคนได้ชมกันจริงๆ

    ดรศ ลองนิยาม

    หากไล่เลียงตามกำหนดการแล้ว ช่วง 2 วันแรก จะเน้นเป็นการเข้าอบรม ฟังบรรยาย รวมถึงทำ Workshop ตามตารางที่ทีมงานได้วางเอาไว้ แต่วันที่ 3 ช่วงบ่ายในกำหนดการระบุไว้ว่า “หัวข้อของผู้เข้าร่วม” ซึ่งในส่วนนี้พี่เขาอยากให้งานออกมาอารมณ์ประมาณ Barcamp ที่มีการเสนอหัวข้อ มีการแบ่งห้องสดๆ วางสล๊อตสดๆ กันหน้างาน

    ด้วยความที่เคยร่วมงานกับมูลนิธิกองทุนไทยในการจัดงาน Barcamp Bangkok มาก่อน พี่ๆ จึงอยากให้ ดรศ และเพื่อนผมที่ชื่อกานต์ ลองเป็นแม่งาน Barcamp แบบเต็มตัว อยากทำอะไร วางตารางยังไง โลโก้เป็นแบบไหน เชิญจัดเต็มได้เลย

    12 ชั่วโมงก่อนถึงเวลางาน

    20.00 น. ค่ำคืนนี้เราทำอะไรไม่ได้มาก เนื่องจากข้อมูลใหม่ที่ได้รับมาคือ จะมีการขยายห้องบรรยายจากเดิมที่มีอยู่เพียง 3 ห้อง ให้กลายเป็น 9 ห้อง ผมกับกานต์ ก็เลยตัดสินใจที่จะดีไซน์ตารางกำหนดการให้กิจกรรมนี้เด่นขึ้น แต่ยังไม่แบ่งเวลาละเอียด เพราะต้องรอยืนยันจากพี่ๆ ก่อน

    Before Barcamp
    จะต้องทำให้ Barcamp CHA-AM เด่นที่สุดในกำหนดการ

    9.00 น. ของวันถัดมา พี่โต้ง MC ประจำค่ายก็โหมกระหน่ำประชาสัมพันธ์อย่างหนัก ทั้งเล่าความหมาย ประสบการณ์ รวมถึงมีการโชว์เสื้อฟรี เพื่อที่จะกระตุ้นให้คนสนใจและร่วมเสนอหัวข้อที่อยากจะพูด ผมกับกานต์จึงเตรียมบอร์ดให้สำหรับเสนอหัวข้อ

    อยากพูดเรื่องอะไรเขียนเลย! / อยากฟังเรื่องอะไรโหวตเลย!

    หลังจากนั้นพวกผมก็กลับมาที่ห้องทำงาน เพื่อที่จะมาออกแบบโลโก้ต่อให้เสร็จ ข้อกำหนดในการใช้ Logo ของ Barcamp คือ จะต้องคง “ดวงไฟ” (flame) ไว้ ส่วนอื่นสามารถออกแบบได้อิสระ

    Flame ใน Logo Barcamp

    พวกผมเห็นตรงกันว่า ดวงไฟ ดูไปดูมา มันก็คล้ายๆ กับคลื่นทะเล จึงตั้งใจจะทำให้ตรงนี้เหมือนคลื่นกำลังซัดเข้าหาฟัง ส่วนคำว่า Barcamp ตัว C น่าจะเอาเก้าอี้ชายหาดมาแทนได้ Logo จะได้ดูมิติและดูมีอะไรมากขึ้น ผลสรุปจึงออกมาเป็นแบบนี้ครับ

    Barcamp CHA-AM

    หลังจากพี่ๆ ไฟเขียว พวกผมก็โปรโมทงานนี้ต่อ ทั้งในโลกออนไลน์ (โพสต์กลุ่ม) และโลกความจริง (ปริ้นติดหน้าห้อง ยึดครองสถานที่จัดงาน)

    Barcamp CHA-AM
    ป้ายหน้าห้อง
    ผู้คนเริ่มมาโหวตหัวข้อที่อยากจะฟังกันแล้ว

    ความยากต่อมา ก็คือการแบ่ง Slot เวลา เพราะมันต้องนำเวลามาหารกับตารางใหญ่ มาหารกับจำนวนห้อง แล้วยังต้องบวกเวลากันชนที่เผื่อไว้ให้คนเดินเปลี่ยนห้องด้วย แต่โชคดีที่ว่าพี่ชัย เทพแห่งการแบ่ง Slot เวลา Barcamp Bangkok ลงมาช่วยแบ่ง สรุปแล้วมีทั้งหมด 3 ห้อง ห้องละ 4 หัวข้อ รวมทั้งหมดได้ 12 หัวข้อ

    จัดหัวข้อใส่ใน Slot
    จัดเรียงเป็นตารางให้อ่านง่ายขึ้น

    ช่วงนี้การทำงานของอาสาสมัครเริ่มง่ายขึ้นแล้ว เพราะหน้าที่ของเราจะเหลือแค่เพียงตรวจสอบความต้องการของผู้พูดในแต่ละห้องว่าต้องการอะไรเพิ่มไหม อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สามารถใช้งานได้ปกติหรือเปล่า ซึ่งทุกอย่างก็ออกมาราบรื่น

    การลับสมองของมนุษย์กับ Boardgame
    (วรรณยุกต์) ไตรยางค์ไทย – อีสาน
    Let’s Shoot! เพราะถ่ายภาพไม่ใช่แค่กดชัตเตอร์

    สุดท้ายแล้วขอขอบคุณพี่ๆ ทุกท่านที่ให้โอกาสเด็กน้อยสองคน (ดรศ และกานต์) ได้ลองควบคุมงานระดับ Barcamp ขอบคุณพี่พูที่คอยดูแลพวกผมอย่างดีตลอดระยะเวลา 6 วัน 5 คืน ขอบคุณพี่โต้งที่คอยให้คำแนะนำในการดำเนินงาน ในการจัดกิจกรรมต่างๆ ขอบคุณพี่ชัยที่คอยซัพพอร์ตเรื่องไอทีและการปริ้นทำให้งานดำเนินการได้อย่างไม่สะดุด ขอบคุณพี่เมย์ดี้ พี่เจ พี่โป้ง พี่เบนซ์ ที่คอยช่วยเหลือและให้กำลังใจ ขอบคุณทุกท่านจากใจจริงครับ

    ภาพเบื้องหลังจากผู้เข้าร่วมค่าย
    กลับบ้าน ยิ้มได้อย่างสบายใจ

    ภาพ : อนุรักษ์ วงศ์กาฬสินธุ์, Patcharin Srewilai

  • สมาคมเว็บฯ จัดเต็ม! สร้างสรรค์ค่าย JWC11 ปูแนวทางเด็ก ม.ปลาย สู่วิชาชีพผู้ดูแลเว็บไซต์

    สมาคมเว็บฯ จัดเต็ม! สร้างสรรค์ค่าย JWC11 ปูแนวทางเด็ก ม.ปลาย สู่วิชาชีพผู้ดูแลเว็บไซต์

    สมาคมผู้ดูแลเว็บไทย ร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ “เปิดโลกวิชาชีพเว็บมาสเตอร์” ครั้งที่ 11 หรือ Junior Webmaster Camp 11 เปิดโอกาสให้เยาวชนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า ได้เข้ามาสัมผัส เรียนรู้ ทักษะทางด้านดิจิทัล ซึ่งสามารถนำไปใช้ได้จริง ตอบโจทย์ทุกสาขาอาชีพ ผ่านการเวิร์กช็อปสุดเข้มข้นจากชมรมเยาวชนผู้ดูแลเว็บไทย รุ่น 16 และผู้เชี่ยวชาญระดับแนวหน้าของเมืองไทยตลอดระยะเวลา 3 วัน 2 คืน

    Junior Webmaster Camp 11

                  นายศรัณย์ แบ่งกุศลจิต กรรมการสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย ซึ่งเป็นที่ปรึกษาโครงการ กล่าวว่า “เราเล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการพัฒนามนุษย์ที่สามารถใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งต่อตนเอง สังคม และส่วนรวมได้ เพราะฉะนั้นในปีนี้ทางโครงการจึงได้มีการแบ่งการอบรมออกเป็น 4 สาขาตามความสนใจของน้องๆ ทั้ง นักเขียนเนื้อหาบนเว็บไซต์ (Web Content Editor),  นักออกแบบเว็บไซต์ (Web Designer), นักการตลาดออนไลน์ (Web Marketer) และนักพัฒนาระบบเว็บไซต์ (Web Programmer) ทุก ๆ สาขาจะได้เรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านโดยตรง ซึ่งถือเป็นโอกาสอันดีที่จะให้น้องๆ ได้ค้นพบเส้นทางความชอบของตัวเอง ซึ่งความชอบนั้นอาจจะเป็นอาชีพในอนาคตของน้องๆ ด้วย”

    นายศรัณย์ กล่าวต่อว่า “ในตลอดระยะเวลา 3 วัน 2 คืน เราได้วางกำหนดการไว้ให้เหมาะสมกับการเรียนรู้มากที่สุด สอดแทรกทั้งวิชาการ กิจกรรม สันทนาการ ซึ่งในปีนี้มีหัวข้อหลักหรือโจทย์ในการสร้างสรรค์ผลงานคือ “การแก้ปัญหาในโรงเรียน” ซึ่งก็จะให้น้องๆ ในกลุ่มช่วยกันดึงปัญหาที่พบเจอในโรงเรียน มาลองพัฒนาเว็บไซต์ออกมาเพื่อแก้ปัญหานั้น ซึ่งค่ายนี้ก็จะปิดท้ายด้วยการให้น้องได้นำเสนอผลงานที่น้องๆ ในทีมช่วยกันสร้างสรรค์ขึ้นมา และมีคณะกรรมการซึ่งเป็นผู้มีประสบการณ์ในวงการเว็บไซต์เป็นผู้ให้คำแนะนำเพื่อให้น้องๆ ได้เรียนรู้และนำไปปรับใช้งาน”

                  Junior Webmaster Camp 11 เป็นโครงการที่ไม่มีค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมโครงการใดๆ ทั้งสิ้น โดยในปีนี้มีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 6 – 8 เมษายน 2562 ณ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ถนนแจ้งวัฒนะ จังหวัดนนทบุรี               เยาวชนที่สนใจสามารถกรอกใบสมัครได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 20 มีนาคม 2562 ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมและสมัครได้ที่เว็บไซต์ WWW.JWC.IN.TH แฟนเพจ Junior Webmaster Camp (https://www.facebook.com/jwcth) และทวิตเตอร์ @JWCTH (https://twitter.com/jwcth)

  • 3 ปีที่พยายามสมัคร มันคุ้มค่าไหม? กับความพยายามนั้น YWC16

    3 ปีที่พยายามสมัคร มันคุ้มค่าไหม? กับความพยายามนั้น YWC16

    จากเด็กมัธยมคนหนึ่งที่ผ่านค่าย JWC#4 มา ก็ได้รู้ว่าด่านต่อไปคือ YWC แต่การสมัครค่ายรุ่นใหญ่ระดับมหา’ลัยนั้นไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด กว่า 3 ปีที่พยายามจะสมัคร แต่ก็ทำได้มากที่สุดแค่ “สำรองลำดับที่ 1” พอผ่านเข้าค่ายมาได้ ก็สติเกือบหลุดเพราะโปรเจคโหดเกิน และนี่คือจุดเริ่มต้นเรื่องราวของ เล็ก สาขา Content ทีม A ในค่าย Young Webmaster Camp รุ่นที่ 16 (YWC#16)

    ควรจะไปต่อหรือพอแค่นี้

    ย้อนกลับไป 3 ปีก่อน ตอนที่ผมเป็นอาสาสมัครจัดงาน Barcamp Bangkok 2016 ทีมพี่ว่านได้มาเปิดเซคชั่นพิเศษเกี่ยวกับค่าย YWC ซึ่งผมก็มีโอกาสได้ร่วมรับฟังในหัวข้อนี้ด้วย จนกระทั่งได้พบกับพี่มาร์ติน รุ่นพี่ค่าย YWC และยังเป็นรุ่นพี่ที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ นนทบุรี พี่มาร์ตินตอบทุกคำถามที่ผมสงสัย พร้อมทั้งให้คำแนะนำ รวมไปถึงคอยกระตุ้นให้ผมสมัครค่ายในทุก ๆ ปี

    YWC#14 เป็นครั้งแรกที่ได้สมัคร ก็เลือกสมัครสาขา Content ไป เพราะตอนอยู่ค่าย JWC#4 ก็เลือกเป็นสาขานี้ ผลปรากฏว่าติดรอบสัมภาษณ์ การบ้านปีนั้นจำได้เลยว่าทำได้แย่ที่สุด คิดงานไม่ออก หัวตื้อไปหมด ทั้ง ๆ ที่หัวข้อก็ไม่ได้ยากมาก เพียงแค่ให้ออกแบบ Content ที่ให้เห็นตระหนักถึงอุบัติเหตุบนท้องถนน + ทำ Business Model Canvas

    YWC#15 ปีที่แล้วไม่ติดปีนี้ขอลองอีกสักครั้ง ก็ยังยืนหยัดที่จะเลือกสาขา Content เหมือนเดิม ผลปรากฏว่าติดรอบสัมภาษณ์ (อีกแล้ว) การบ้านในรอบนี้จะให้เลือกระหว่างทำให้คนเข้าใจเรื่องการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ (Cyber bullying) กับ ทำให้คนไทยเปลี่ยนพฤติกรรมเสพติดหน้าจอ เสพติด Social หันมาพูดคุย เจอหน้ากันในชีวิตจริง ๆ ผมเลือกหัวข้อ Cyber Bullying ไปเพราะคิดว่าท้าทายดี และรูปแบบของการนำเสนอผมเลือกทำเป็นวิดีโอสั้น (วิดีโอที่ทำเพื่อส่งการบ้านในครั้งนี้) ขนาดสี่เหลี่ยมจัตุรัส ประกาศผลรอบสัมภาษณ์มาน่าจะเป็นอะไรที่ลุ้นสุดเพราะติดสำรองอันดับ 1 ท้ายที่สุดตัวจริงก็ไม่สละสิทธิ์เลยอดไปค่ายในปีนี้

    YWC#15 สำรองอันดับ 1
    สำรองอันดับ 1

    มาในปีนี้ ซึ่งค่าย YWC#16 เปิดรับสมัครอยู่พอดี แต่ก็ชะล่าใจยังไม่อยากกรอกใบสมัคร จนปล่อยเวลาล่วงเลยมาถึงกลางเดือนพฤศจิกายน ซึ่งชีวิตเด็กปี 4 เป็นอะไรที่วุ่นวายมาก ทั้งต้องเตรียมงานนำเสนออาทิตย์ต่ออาทิตย์ ต้องส่งการบ้านวันต่อวัน แต่ละอย่างเป็นงานใหญ่ที่ต้องมีการเตรียม การซักซ้อม ไม่ใช่เพื่อให้คะแนนออกมาดี แต่เพื่อไม่ให้อาจารย์ด่าว่าทำงานไม่สมกับเป็นปีแก่ จนไม่อยากจะทำอะไรนอกเหนือจากการเรียนและทำการบ้านทั้งสิ้น

    จนกระทั่งได้พี่มาร์ตินมากระตุ้นก่อนวันปิดรับสมัคร 2 วัน พี่เขาบอกว่าให้ลองสมัครดูอีกปี ไหน ๆ ก็พยายามสมัครมา 2 ปีแล้ว ลองพยายามดูอีกครั้งจะเป็นอะไรไป ก็ตัดสินใจล็อกอินเข้าระบบนั่งกรอกข้อมูล แต่ยังไม่ตอบคำถามนะ คัดลอกทุกคำถามมาใส่ใน Google Keep เพื่อที่จะได้นั่งพิมพ์คำตอบได้อย่างสะดวก แต่แล้วก็ตอบคำถามไม่เสร็จภายใน 2 วันนั้น เพราะที่มหาวิทยาลัยกลุ่มของผมจะต้องเปิดร้านขนมไทย ซึ่งมันเสียเวลาไปกับการตกแต่งร้าน การยืนขายของทั้งวัน ก็เลยบอกกับตัวเองว่าถ้าปีนี้ทางค่ายไม่ต่อเวลา ก็คงจะไม่สมัครละ ปล่อยไปเลย

    เนื่องจากระบบผิดพลาด ทางค่ายต่อเวลาให้อีก 2 วัน

    โล่งอก ได้เวลาเพิ่มมาอีก 48 ชั่วโมง ช่วงที่เรียนก็พยายามหาโอกาสมานั่งพิมพ์คำตอบอยู่เรื่อย ๆ วันสุดท้ายของการสมัคร เวลาประมาณ 19.00 น. ก็มาล็อกอินในระบบค่ายอีกครั้ง ปรากฏข้อมูลที่กรอกไว้ทั้งหมดหายยยยย ใช่ครับทุกอย่างมันหายไป ทั้งประวัติส่วนตัว ผลงาน รวมไปถึงการตอบคำถามของตัวเอง แต่โชคดีอย่างที่คำตอบของตัวเองทั้งหมดมีการคัดลอกไว้แล้ว เลยทำให้เหลือแค่พิมพ์คำตอบที่เหลือทั้งหมดและกดส่ง ผมกดส่งตอน 23.51 น. เรียกได้ว่าใช้เวลาจนเกือบจะถึงนาทีสุดท้าย

    ประกาศผล

    วันนั้นจำได้เลยว่า พยายามจะฝืนร่างกายตัวเอง เพื่อให้ถึงเวลาประกาศผล แต่มันเหนื่อยมาก ไม่รู้เหนื่อยกับอะไรมาทั้งวันเลยตัดสินใจหลับไปเลย ไม่ลุ้นแล้ว ตื่นมาค่อยมาอ่านก็ได้ ตื่นมาตอนตี 2 ยังไม่ทันจะเข้าเว็บ ywc.in.th เลยครับ รุ่นพี่ก็ทักมาแสดงความยินดีแล้วที่เข้ารอบสัมภาษณ์ ก็โล่งใจไปเปลาะหนึ่ง พอเข้าเว็บเพื่อจะไปดูโจทย์การบ้านปีนี้ ร้องโอ้โหวเลยยย เพราะโจทย์ปีนี้คือให้เลือกทำระหว่างสรุปรายการเดินหน้าประเทศไทย/เดินหน้าประเทศไทย วัยทีน หรือทำสรุปการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปี 2562 ซึ่งมันหิน ๆ ทั้งนั้น

    แน่นอนครับ ด้วยความที่เป็นทีม #ยามเฝ้าจอ ประกอบกับชอบเปิดโทรทัศน์ทิ้งไว้ ผมจึงเลือกสรุปรายการเดินหน้าประเทศไทย วัยทีน แบบที่ไม่ต้องคิดให้เสียเวลา 1 อาทิตย์ก่อนสัมภาษณ์ผมนั่งไล่ดูคลิปรายการย้อนหลังไปประมาณ 3 เดือน เพื่อที่จะคัดเลือกตอนที่ตัวเองจะสรุปได้ง่ายมากที่สุด จนไปเจอกับคลิปเดินหน้าประเทศไทย วัยทีน ตอนที่รัฐบาลกำหนดนโยบายการรู้เท่าทันสื่อของเยาวชน ผมจึงได้เลือกมาเป็นการบ้านของผม และสรุปมันออกมาให้อยู่ในรูปแบบของวิดีโอสั้น ขนาดสี่เหลี่ยมจัตุรัส (อีกแล้ว) ชมคลิปการบ้านได้ที่นี่

    วันสัมภาษณ์

    คิวแรกของวัน กับการสัมภาษณ์ค่าย YWC#16
    คิวแรกของวัน

    ตื่นแต่เช้า อาบน้ำแต่งตัว รีบไปที่ตึก CP ด้วยรถไฟฟ้า MRT เป็นปีแรกที่ไม่ต้องรีบวิ่งเข้าตึก เดินสบาย ๆ ชมนกชมไม้ทำจิตใจให้สงบพยายามไม่ตื่นเต้น “น้องมาสัมภาษณ์ค่าย YWC ใช่ไหมคะ” พี่สตาร์ฟหน้าตึกกล่าวทักทายกับผม “ใช่ครับ” “น้องสัมภาษณ์ลำดับที่ 1 นะคะ ขึ้นไปเตรียมตัวได้เลย” อะไรนะ สัมภาษณ์เป็นคิวแรก หลังจากพยายามไม่ตื่นเต้นก็คงทำไม่ได้ละ อัตราการเต้นหัวใจน่าจะพุ่งปรี๊ดขึ้นมาเรื่อย ๆ แน่

    คิวที่ 1 เชิญครับ เติ้ล บรรณาธิการ spaceth.co กล่าว ผมลุกขึ้นพร้อมเดินไปกับน้องเขา ไปนั่งรอหน้าห้องประหนึ่งว่ากำลังจะต้องไปให้ปากคำกับด่านตรวจคนเข้าเมือง

    กำลังโดนเชือด ณ ห้องสัมภาษณ์ YWC#16
    กำลังโดนเชือด

    “ขออนุญาตนั่งนะครับ” เป็นคำพูดแรกในห้องสัมภาษณ์ของผม ผมเริ่มด้วยการแนะนำประวัติตัวเองอย่างคร่าว ๆ ชื่ออะไร เรียนคณะไหน ผลงานตัวเองมีอะไรบ้าง หลังจากนั้นผมก็นำเสนอการบ้านของตัวเองต่อโดยทันที กรรมการไม่รอช้ายิงคำถามผมมารัว ๆ

    • มีผลงานอะไรเด่น ๆ บ้าง
    • ทำไม? ถึงเลือกทำเว็บไซต์ชุมชนเพื่อสุขภาพชาย
    • ได้ติดตามข่าวไอคอนสยามหรือเปล่า
    • ถ้าให้ทำคอนเทนต์หนึ่งอย่างเกี่ยวกับไอคอนสยามจะทำอะไรที่ไม่ซ้ำกับคนอื่น
    • ถ้าให้ทำการบ้านเรื่องการเลือกตั้งปี 62 จะทำออกมาในรูปแบบไหน เพราะอะไร
    • อยู่ปี 4 แล้วถ้าได้เข้าค่ายจะมาช่วยงานปีหน้าได้หรือไม่
    • จะประชาสัมพันธ์ค่ายด้วยวิธีไหนให้คนมาสมัครเยอะที่สุด
    • จะดึงเพื่อนมหาวิทยาลัยอื่นมาสมัครค่ายได้อย่างไร
    • คอนเนคชั่นเราเป็นยังไงบ้าง
    • ….

    ผมพยายามฟังทุกคำถามอย่างละเอียด เพราะติดนิสัยชอบเกริ่นนำทำให้บางครั้งกลายเป็นการตอบที่ไม่ตรงกับคำถาม คำตอบของผมตอบออกมาด้วยความมั่นใจ พยายามที่จะไม่แสดงความกังวลออกมา หลังจากสัมภาษณ์เสร็จผมรู้สึกต่างจากปีอื่นมาก ปกติหลังจากสัมภาษณ์ผมจะมานั่งดาวน์ มานั่งบ่นกับรุ่นพี่ แต่ปีนี้สัมภาษณ์เสร็จยังไม่ถึง 10 โมง ลงไป True Coffee สั่งกาแฟโบราณ นั่งอ่านนิตยสารอย่างสบายใจ

    ติดค่ายยยย

    หลังจากกด F5 หน้าเว็บตลอดทั้งวัน ตอนประมาณ 5 ทุ่มกว่าก็ประกาศผลว่าผมติดค่ายในปีนี้ รู้สึกดีใจเป็นอย่างมาก ผมรู้สึกขอบคุณตัวเองที่พยายามจนมาถึงจุดนี้ได้ ขอบคุณรุ่นพี่ ขอบคุณเพื่อน ๆ ที่คอยให้กำลังใจกันเสมอ เหนือสิ่งอื่นได้ผมรีบเปิดแอปธนาคารโอนเงิน 500.07 บาทเพื่อยืนยันการเข้าค่ายทันที ถ้าปล่อยทิ้งไว้หรือชะล่าใจก็น่าจะลืมเป็นแน่

    ผ่านแล้วโว้ยยย
    ยินดีด้วยคุณผ่านการคัดเลือก

    วันที่ 1 – 22 ธันวาคม 2562

    ค่ายปีนี้จัดที่คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ด้วยความที่อยู่นนทบุรีเลยต้องรีบออกจากบ้านเร็วเป็นพิเศษ พอถึงไปสถานที่จัดค่ายก็ลงทะเบียน รับป้ายชื่อ รับ Tag ติดกระเป๋า ตามขั้นตอนมาตรฐานทั่วไป หลังจากนั้นก็เข้าไปในห้อง Auditorium เพื่อรับชมการเปิดค่าย การเสวนาพิเศษ

    เหตุการณ์ในวันนี้มีแต่จุดหักมุม ตั้งแต่กิจกรรม ไปจนถึงการแบ่งกลุ่ม ชอบการพยายามทำกลุ่มหลอกขึ้นมามาก เป็นอะไรที่ประทับใจสุดถึงความพยายาม จนต้องถามพี่กลุ่มว่ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มสุดท้ายหรือยัง กำหนดการนี้เป็นกำหนดการจริงหรือหลอก กลายเป็นว่าเดาอนาคตตัวเองไม่ถูกเลยว่าจะเจออะไรต่อไป

    TOWN A คือกลุ่มสุดท้ายที่จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอีกแล้ว พอได้เจอกับเพื่อน ๆ ในกลุ่มก็รับรู้ได้ถึงความโหดแต่ละคน มาจากจุฬา มหิดล เชียงใหม่ พระจอมเกล้า รวมไปถึงมีน้องเป็นเด็ก ม.6 ที่โดดสอบกลางภาคมาจากเตรียมฯพัฒน์ด้วย ด้วยความที่เราเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนเพียงคนเดียว ก็พยายามจะถ่อมตัว เน้นเป็นผู้ฟังที่ดีมากกว่า

    เวลาระดมไอเดียก็มาถึง โจทย์ดูเหมือนจะไม่ยากนะ แค่คิดว่าตัวเองมีปัญหาอะไร ก็นำเสนอออกมาให้เพื่อน ๆ ได้รับรู้ ประเด็นปัญหาที่ได้รับเลือกคือ “กาแฟ” ยอมรับเลยว่าตัน ถึงแม้จะเป็นคนชอบกินกาแฟอยู่ แต่ก็ไม่ได้เป็นคนที่รู้รายละเอียดและปิดกั้นรสชาติของตัวเองว่าต้องเป็นเมล็ดจากประเทศนี้ สายพันธ์ุแบบนี้เท่านั้น คือกินได้หมดขอแค่ให้เราตื่น แต่เมื่อเพื่อน ๆ ในทีมโหวตแล้ว เราก็ต้องยอมรับการตัดสินใจของทีมและพยายามทำผลงานออกมาให้ดีที่สุด

    ยิ่งถล้ำลึกยิ่งถอนตัวออกมายาก ประเด็นหลักของคืนนี้คือทุกคนจะต้องช่วยกันคิดปัญหา วิธีแก้ปัญหาออกมาให้ได้ เพราะกำหนดการวันถัดไปจะต้องลงพื้นที่ไปสำรวจความคิดเห็นจากประชาชนกลุ่มเป้าหมาย นั้นหมายความว่าถ้าปัญหาหรือวิธีการแก้ไขปัญหาของเราไม่ชัดเจน จะทำให้เราไม่ได้ลงพื้นที่ซึ่งจะเป็นผลเสียแน่นอน คนในทีมช่วยกันออกแบบหน้าตาเว็บ จุดขาย โมเดลธุรกิจทุกอย่างเสร็จสรรพแล้ว แต่พอไปปรึกษากับรุ่นพี่ซีเนียร์เขาก็ชี้ให้เห็นจุดบอดอย่างชัดเจน ที่มันไม่สามารถที่จะแก้ไขได้ด้วย จนคนในกลุ่มต้องมานั่งปรึกษากันก่อนจะถึงชั่วโมงสุดท้ายในการระดมไอเดีย ว่าจะทำยังไงต่อ จะไปต่อไหม หรือจะรื้อทำใหม่ สีหน้าของทุกคนตอนนั้นเหนื่อยมาก ยิ่งมีรุ่นพี่เดินเข้ามาในกลุ่มแล้วบอกให้เริ่มขั้นตอนแรกใหม่ก็เริ่มท้อกันเข้าไปใหญ่

    ตามหาน้องหมาน้องแมว เป็นอีกไอเดียที่ได้รับการเลือก แต่ทุกคนในทีมก็ยังไม่อินกับหัวข้อนี้ จนกระทั่งมีรุ่นน้องคนหนึ่งได้เล่าประสบการณ์ให้คนในกลุ่มฟังว่า การทำน้องแมวหายไปจากบ้านอารมณ์ความรู้สึกของเจ้าของเป็นอย่างไร ซึ่งหลังจากฟังจบจากการที่อินอยู่แล้วตั้งแต่แรก มาเจอเรื่องราวของน้องยิ่งอินเข้าไปใหญ่ เราก็เปลี่ยนฝั่งจากผู้ฟัง มาเป็นผู้สนับสนุนหัวข้อนี้อย่างเต็มตัว จนสุดท้ายโปรคเจคตามหาน้องหมาน้องแมวก็ได้รับการยอมรับจากคนในกลุ่ม

    กลับถึงโรงแรมที่พัก พูดได้คำเดียวว่าโอ้วววว ห้องใหญ่มาก มีไดร์เป่าผม ห้องน้ำ 2 ห้อง นอนห้องละ 2 คน รับรู้ได้ถึงการเตรียมการอย่างดีของทีมจัดค่าย กลุ่มของผมนัดคุยงานกันตอน 0.30 น. ก็มีพี่บ้านทั้งพี่ทนกับพี่ฟางฟางก็มานั่งอยู่เป็นเพื่อน คอยช่วยเสนอไอเดียอยู่ตลอดเวลา ทางทีมพยายามจะทำให้ไอเดียออกมาเป็นรูปธรรมมากที่สุด ทั้งฟีเจอร์ทั้งหมดที่เว็บเรามี หน้าตาเว็บจะเป็นอย่างไร คุยกันเสร็จเกือบๆ ตี 4 ครึ่งก็แยกย้ายกันไปนอน

    วันที่ 2 – 23 ธันวาคม 2561

    “ล้อหมุน 7 โมงนะคะ รีบลงมาทานอาหารเช้า ถ้ามาไม่ทัน skip ไปข้าวเที่ยงได้เลย” พี่บ้านเตือนในไลน์กลุ่ม วันนี้ผมรีบลุกอาบน้ำตั้งแต่เช้า เพราะเป็นคนอาบน้ำช้า อาบเสร็จรีบลงไปกินข้าว ร้องโอ้เป็นรอบที่ 2 โรงแรมอาหารดีมาก มีทั้งชา กาแฟ ขนมปัง ไส้กรอก ซุป แฮม ไข่ดาว เลือกผสมปนเปได้เลยว่าจะกินแบบไทยหรือเทศ

    เช้าวันนี้กลุ่มของเราง่วนอยู่กับการลงพื้นที่สัมภาษณ์หา Insight ของกลุ่มเป้าหมาย เราแบ่งกลุ่มกันเป็นออกเป็น 4 ทีม ทีมละ 2 คน เพื่อแยกย้ายกันไปสัมภาษณ์ที่สวนพระนคร ทางค่ายก็ได้จัดเตรียมรถรับส่งไว้ให้ เป็นรถสองแถว ที่สามารถเดินทางได้ในรัศมี 5 กิโลเมตรจากคณะ พอถึงสวนพระนครทุกคนต่างรู้หน้าที่ตัวเอง ก็รีบหาข้อมูลให้เร็วที่สุดเพราะเวลามีอยู่อย่างจำกัด การพูด การสัมภาษณ์เป็นสิ่งที่ผมชอบมาก เพราะมันไม่ต้องเขียน พยายามดึงทักษะของตัวเองออกมาใช้สัมภาษณ์ในครั้งนี้

    ลงพื้นที่หา Insight
    ลงพื้นที่หา Insight

    หลังจากได้ข้อมูลเป็นที่พอใจและเวลาเหลือ ทางกลุ่มและพี่บ้านก็ตกลงกันว่าจะไปต่อที่พาซิโอ เพราะก่อนจะออกเดินทาง ทางทีมจัดค่ายได้ให้เงิน 500 บาทเป็นค่าอาหารกลางวันของแต่ละกลุ่ม กลายเป็นโจทย์ที่ยากอีกอย่างหนึ่งว่าในงบ 500 บาทจะกินอะไรกันดี หวยเลยมาออกที่ KFC

    กลับมาถึงคณะก็แยกย้ายกันอบรมตามสาขา ในบ่ายวันนี้สาขาคอนเทนต์อบรมกับพี่เอ็มและปอง ทำให้ผมได้รู้ถึงระดับความสามารถของตัวเองที่มีน้อยกว่าที่ตลาดต้องการมาก ทำให้เราต้องฝึกฝนและพยายามขึ้นให้มากกว่านี้

    กิจกรรมสันทนาการ ชอบของช่วงเย็นวันนี้มากที่สุดจนต้องเขียนถึง ลักษณะกิจกรรมเป็นเกมง่าย ๆ แค่ต้องชิงธงเมืองอื่นให้ได้เยอะที่สุด บ้าน A ได้อยู่สีแดง มีฐานที่มั่นอยู่ใกล้กับห้องน้ำและเครื่องถ่ายเอกสาร แค่เริ่มเกมผมก็ตีมึนแล้ว หาบ้านตัวเองไม่เจอ เดินไปไหนก็เจอแต่สีอื่น จนพี่ฟางต้องมาตามกลับบ้าน พอเริ่มเกมนับได้ว่าเป็นเกมที่ดุเดือดมาก มีทั้งขโมย จับกัน ล้อมกัน ทำให้เรารู้ตัวเองเลยว่าเหนื่อยง่ายแค่ไหน วิ่งตามเพื่อน ๆ ไม่ค่อยทัน แต่เมื่อใดที่ได้อยู่กับกลุ่มเพื่อน ถึงไหนถึงกัน จำได้ว่าน้องกร บรรณาธิการ spaceth.co ได้วิ่งเข้ามาในเขตสีแดง ซึ่งน้องเป็นสมาชิกของสีอื่น ทำให้เจ้าบ้านอย่างพวกผมกว่า 5 คน รุมล้อมน้องเขาไว้ น้องพยายามจะมุดหนีใต้โต๊ะ ด้วยความที่เราอยู่ปี 4 ก็เกิดคำถามในใจ “เราจริงจังกันไปปะวะ” “ถ้าน้องหัวแตกขึ้นมาจะทำยังไง” 3 คนในทีมก็พยายามจะแย้งป้ายสีของน้องกร ส่วนผมกับเพื่อนอีก 1 คนก็พยายามจะเซฟน้องกรไว้ ไม่ให้ล้ม ไม่ให้หัวไปชนกับโต๊ะ ด้วยความคิดง่าย ๆ ว่า “ถ้าน้องเกิดอุบัติเหตุมา เราไม่รู้จะมองหน้าน้องยังไง” พอสรุปกิจกรรม คะแนนที่ได้จากการชิงธงบ้านอื่น ที่ได้จากการเปิดกล่องพิเศษไม่สำคัญเลย เพราะที่สุดแล้วเกมนี้เป็นเกม “เผยสันดาน” ให้เห็นลึกๆ ว่าเป็นคนยังไง มีความเป็นผู้นำหรือเปล่า เป็นคนก้าวร้าวหรือไม่ ทำงานเป็นทีมได้หรือเปล่า ซึ่งพอได้รู้อย่างนั้นแล้วก็สะพรึงเบา ๆ เพราะท้ายที่สุดเราก็ได้รู้จักนิสัยส่วนลึก ๆ ของตัวเอง

    เกมสันทนาการที่มันที่สุด และเหนื่อยที่สุดเช่นกัน
    YWC War เกมสันทนาการที่มันที่สุด และเหนื่อยที่สุดเช่นกัน

    ถึงเวลาระดมไอเดีย ถึงแม้กำหนดการจะให้เวลาถึง 3 ชั่วโมง แต่ก็บอกได้คำเดียวว่าไม่พอ กลุ่มของผมพยายามจะตบประเด็นให้ได้ ว่าสรุปแล้วเราควรจะมีฟังก์ชันอะไรบ้าง ถ้าผู้ใช้งานเข้าเว็บไซต์ของเราแล้วจะทำอะไรต่อ สิ่งที่เห็นได้ชัดคือเมื่อทุกคนเห็นภาพเดียวกันแล้ว การทำงานราบรื่นขึ้นกว่าวันแรกมาก ใครที่ถนัดด้านไหนก็จะแสดงความคิดเห็นออกมาว่าควรเป็นแบบนี้ รุ่นพี่ซีเนียร์ก็เห็นด้วยกับเรามากขึ้น แต่ก็หาจุดบอดให้เรากลับไปคิดและแก้ไขกันต่อ

    ถึงโรงแรม เราก็นัดกันเวลาเดิมคือ 0.30 น. เป้าหมายของเราในคืนนี้คือการร่างเว็บไซต์ออกมาให้สมบูรณ์มากที่สุด เพราะพรุ่งนี้เช้ากว่า 9 ชั่วโมง ทั้งทีมจะต้องนั่งทำเว็บไซต์นั้นออกมากจริง ๆ และแล้วคืนนี้เราก็นอนตี 4 กันอีกเหมือนเดิม

    วันที่ 3 – 24 ธันวาคม 2561

    ค่าย ywc#16 ดำเนินมาถึงวันสำคัญที่สุด นั้นก็คือวันทำ Workshop เมื่อถึงเวลาทำงานจริง ทุกคนแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจนตามสาขาที่ตนสมัครเข้ามา ผมทำงานร่วมกับน้องจุ้ย ซึ่งผมให้น้องเขานำทีมคอนเทนต์และสั่งผมมาเลยว่าเราจะทำอะไรกันบ้าง จุ้ยกับผมก็เลยตัดสินใจว่าเราจะเตรียมข้อมูล รายละเอียดของสุนัขทั้งรูปภาพและข้อมูลให้กับฝั่งโปรแกรมเมอร์ และฝั่งมาร์เก็ตติ้ง แก้ไขคำที่ทางฝั่งดีไซน์ร่างไว้ให้ ทุกคนในกลุ่มทำงานเป็นทีมกันมาก

    1 ชั่วโมงของการทำ Workshop ผ่านไป ทางฝั่งคอนเทนต์เตรียมข้อมูลสำหรับน้องหมาเสร็จทั้งพันธุ์ พิกัด ลักษณะ จุดเด่น ฯลฯ ก็เลยทำอย่างอื่นต่อซึ่งก็คือการเขียนรายละเอียดเกี่ยวกับหน้า ผมรับผิดชอบหน้า Donation ส่วนน้องจุ้ยทำ About Us และ Review จนฝั่งเราทำเสร็จก็เลยไปนั่งเขียนบทความกันต่อคนละ 1 บทความ ผมเขียนบทความสัมภาษณ์ตัวเอง ส่วนน้องจุ้ยเขียนเกี่ยวกับ 6 วิธีสังเกตสุนัขจะออกจากบ้านพร้อมวิธีป้องกัน

    หลังจากนั้นพวกเราก็กระโดดลงไปนั่งทำแฟนเพจเฟซบุ๊ก ทำโพสต์ ใส่รายละเอียดต่าง ๆ เมื่องานคอนเทนต์ดูสมบูรณ์แล้ว น้องจุ้ยก็ลงไปช่วยฝั่งโปรแกรมเมอร์ ซึ่งผมช่วยอะไรคนอื่นไม่ได้เลย เขียนโปรแกรมไม่ได้ ก็เลยลองไปดูฝั่งมาร์เก็ตติ้งว่าพอจะช่วยอะไรได้บ้างไหม ปรากฏก็มีแต่งานที่เราทำไม่ได้อีกเช่นกัน ตอนนั้นรู้สึกดาวน์หนักมาก ที่ไม่สามารถจะช่วยอะไรทีมได้เลย

    จนพี่ทนซึ่งเป็นพี่บ้านก็ได้เข้ามาคุยว่าเป็นอะไร ผมก็พูดประมาณว่ารู้สึกตัวเองไร้ประโยชน์อย่างมาก ที่ช่วยอะไรคนอื่นไม่ได้เลย พี่ทนเห็นอย่างนั้นไม่รอช้าครับ หางานมาให้ทำทันที นี่ ๆ เอ็งคิดเมนูเลยจะชื่ออะไร ใส่แคปชั่นยังไง ไปหาภาพมาด้วยขอลักษณะภาพแบบนี้ ตกแต่งมันด้วยนะ มันทำให้เราฮึดสู้อีกครั้ง ถึงแม้เราจะลงไปช่วยงานอื่นไม่ได้มากนัก เราก็ขอทำหน้าที่ของฝั่งตัวเองให้ดีสุดเท่าที่เราจะทำได้

    ช่วง 10 นาทีสุดท้ายของการ Workshop ทุกคนไปรุมอยู่ที่น้องแป้ง เพื่อจะรอดูเว็บไซต์ออนไลน์ น้องเขาพยายามจะดีพลอยเว็บ แต่มันก็มีปัญหาเกิดขึ้น ทุกคนในทีมลุ้น จนสุดท้ายหมดเวลาน้องก็ปล่อยโฮออกมา รู้สึกสะเทือนใจตัวเองมากๆ ที่ทำอะไรไม่ได้เลย ผมทำได้มากที่สุดคือการไปปลอบและให้กำลังใจว่า “แป้งทำดีที่สุดแล้ว ไม่ต้องซีเรียสนะ” “เก่งมาก” ทุกคนในกลุ่มพยายามให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ท้ายที่สุดพี่ซีเนียร์ก็เขามาดูและทำให้เว็บไซต์ออนไลน์สำเร็จ

    เวลาของปาร์ตี้ก็มาถึง ธีมปีนี้คือผีร้าย ก่อนจะมาค่ายผมก็คิดว่าจะเป็นตัวอะไรดี ก็เลยเลือก “คาโอนาชิ” ลงทุนสั่งหน้ากากและซื้อผ้าดำยาว 4 เมตรสำหรับปาร์ตี้นี้โดยเฉพาะ พองานเริ่มน้องดิวบอกพี่แบบนี้ไม่สนุก มาเดี๋ยวหนูเพ้นท์ให้ เอาวะถ้ามันไม่ดีน้องคงจะไม่แนะนำ น้องก็เพนท์หน้าคาโอนาชิให้เราเลย ซึ่งก็ออกมาน่ารักมาก เราก็เลยยกหน้ากากคาโอนาชิให้น้องจุ้ยไป

    ส่วนของกินกับเพลงก็ถือได้ว่าเป็นเหมาะสมอย่างมากที่จะมาเป็นตัวปลดปล่อยความกดดัน ความเครียดทั้งวัน ผู้สนับสนุนเขาโหดจริง ๆ มีทั้งพิซซ่า เกี๊ยว และซาลาเปาจัดเต็มหมด ปิดท้ายคืนด้วยไอติมที่มีโลโก้ค่ายอยู่ ขออนุญาตเรียกว่านวัตกรรมเพราะเอาลิ้นไปแตะปุ๊ปตื่นทันที

    ไอติมนวัตกรรม
    ไอติมนวัตกรรม

    เวลาแห่งความสุขมักผ่านไปเร็วเสมอ เพราะพรุ่งนี้เราจะต้องนำเสนอผลงานที่คิดกันมาตลอด 3 วัน 2 คืน ต่อหน้าคณะกรรมการ ซึ่งเท่าที่ไล่ตามอ่านดูของแต่ละปีก็รับรองได้เลยว่ามีความเผ็ดระดับร้อนแรง กลุ่มของผมกลับถึงที่พักประมาณ 23.30 น. รุ่นน้องในกลุ่มก็นัดมาในไลน์ว่าจะคุยงานกันตอน 0.20 น. โอเคไหม ทุกคนก็ตอบตกลง ผมก็จัดแจงอาบน้ำแต่งตัวรอจนกระทั้งใกล้เวลา 0.20 น. น้องก็ทักมาอีกว่าอาบน้ำไม่ทันขออีก 10 นาที เราก็เลยคิดว่างั้นงีบเอาแรงสักพักก็คงจะดี

    คำว่าสักพักไม่มีอยู่จริงผมเผลอหลับแบบจริงจังมาก คนอื่นในทีมพยายามปลุกห้องผม ทั้งเคาะ ทั้งเงี่ยหูฟัง ก็ไม่มีเสียงตอบรับออกจากห้อง 7501 แต่อย่างใด รุ่นน้องพยายามไลน์ พยายามโทร ผมกับจุ้ยก็ไม่มีปฏิกิริยาตอบกลับต่อสิ่งเร้านั้น จนสุดท้ายน้องดิวต้องลงไปขอกุญแจจากล็อบบี้มาเปิดห้องผม เพราะถ้าคนไม่ครบมันคุยงานไม่ได้แน่ ๆ

    ใช่ครับกายหยาบผมตื่น แต่วิญญาณผมยังนอนอยู่ ผมเดินตาปรื่อลงไปกับน้องๆ เพื่อนั่งคุยกัน น้องแป้งพยายามหันมาถามผมว่า พี่ยังฟังหนูรู้เรื่องใช่ไหม นี่ก็พยายามพยักหน้าตอบกลับไป หลังจากนั้นน้องก็เริ่มแบ่งงานว่าใครควรจะพูดตรงไหน ซึ่งทุกคนก็เริ่มซ้อมพรีเซ็นต์ น้อง ๆ เริ่มขอความเห็นว่าตรงนี้จะพูดยังไงดี ด้วยความที่เราเรียนนิเทศ ประกอบกับเรียนวิชาพรีเซ็นต์มา 1 เทอมเต็ม ๆ ก็เลยลองเสนอไอเดียไปว่า ตรงนี้ควรเปิดด้วยประโยคคำถามนะ ตรงนี้น่าจะอธิบายแบบนี้ หลังจากผมนำเสนอไอเดียเสร็จน้อง ๆ ก็ดูจะเห็นพ้องกับสิ่งที่ผมนำเสนอด้วย ก็เลยมอบหน้าที่นำเสนอให้ตกเป็นของผมและของดิว

    ผมทดลองนำเสนอต่อหน้ารุ่นพี่ซีเนียร์ พี่ๆ เขาก็ให้คำแนะนำอย่างดีมาก ไม่ควรจบแบบนี้นะ กราฟนี้มีปัญหาต้องอธิบายประมาณนี้แทน หลังจากนั้นกลุ่มของผมจึงกลับมานั่งซ้อมจับเวลากันต่อ โดยที่ทุกๆ คนในทีมช่วยกันดีมาก พี่อันนี้ผมว่าไม่ควรพูด พี่อันนี้เป็นประเด็นสำคัญใส่ไปด้วย อันนี้อ่านว่าเดลเซฟเวอร์นะ ไม่ใช่เดลเซิร์ฟเวอร์ระวังด้วยนะพี่ รอบสุดท้ายที่ซ้อมกันเวลาออกมาดีมากคือ 8 นาที 50 วิ ซึ่งทางค่ายกำหนดเวลานำเสนอไว้ที่ 10 นาที เพราะฉะนั้นผมมั่นใจว่ายังไงก็ตามเวลาก็ไม่มีทางเกิน จบวันจบคืนอันแสนยาวนานที่เวลา 4.15 น. (อีกแล้ว)

    วันที่ 4 – 25 ธันวาคม 2561

    เช้าวันนี้ผมพยายามทำตัวให้โล่ง สมองโปร่งมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะเวลาขึ้นเวทีแล้วจะได้ตื่นเต้นน้อยลง และสามารถตอบคำถามกรรมการได้ดี ระบบสุ่มวันนี้เป็นรถไฟฟ้าซึ่งเมื่อรถไฟฟ้าวิ่งไปหยุดที่สถานีใดกลุ่มนั้นต้องพรีเซ็นต์ ตั้งแต่เริ่มสุ่มทีมแรกก็รับรู้ได้ว่า ภายในช่วงเช้าวันนี้รถไฟมันจะต้องมาหยุดที่สถานี A สักครั้ง หลังจากสุ่มไป 3 รอบ รถไฟก็มาหยุดที่สถานี A เป็นสัญญาณว่าการนำเสนอของกลุ่มผมจะต้องเริ่มต้นขึ้น

    ขณะกำลังนำเสนองาน
    ขณะกำลังนำเสนองาน

    ผมขึ้นไปเปิดการพูดด้วยคำว่า “สวัสดี” ยิงต่อด้วยประโยคคำถามที่ไม่ต้องการคำตอบแบบที่ซ้อมกับเพื่อนมาเมื่อคืน ทุกอย่างถูกดำเนินการเหมือนถูกจัดวางเอาไว้ ผมพูดเกริ่นเสร็จก็ต่อด้วยน้องดิวที่จะมาอธิบายถึงแผนธุรกิจ หลังจากนั้นผมกับน้องแป้งก็มาทำ DEMO เว็บไซต์กัน สิ่งที่ผมชอบมากที่สุดในการนำเสนอครั้งนี้ก็คงเป็นประโยคปิดของผมที่ได้รับการแนะนำจากแม่แอ้มป์ว่าควรจะปิดอย่างไร กลายมาเป็นบทพูดที่ว่า “สุดท้ายนี้เราหวังว่าโปรเจคของเราจะเป็นส่วนเล็ก ๆ ที่ช่วยพัฒนาสังคมให้น่าอยู่ขึ้น มือทั้ง 16 มือของเราไม่อาจจะทำให้โลกทั้งใบเปลี่ยนแปลงได้ แต่เรามั่นใจว่าอย่างน้อยที่สุดมือทั้ง 16 มือนี้จะช่วยเปลี่ยนโลกของสุนัขสักตัวอย่างแน่นอน ซึ่งตอบโจทย์กับคอนเซ็ปต์ค่ายที่ว่า Ready to Disrupt นวัตกรรมเว็บเปลี่ยนโลก ขอบคุณครับ”

    หลังจากนำเสนอเสร็จคำถามจากคณะกรรมการได้ถูกถาโถมเข้ามาหากลุ่มของพวกเรา หลาย ๆ คำถามเป็นคำถามที่มีการคิดกันไว้ก่อนล่วงหน้าอยู่แล้ว แต่ไม่สามารถที่จะหาคำตอบสรุปได้ ทางกลุ่มจึงไม่ได้เลือกตอบคำถามนั้นไป ผู้ตอบส่วนใหญ่ก็ยกเครดิตให้กับโอ๊ตที่พยายามฟาดฟันกับกรรมการอย่างสุดความสามารถ

    นำเสนอเสร็จก็ไม่มีความกังวลใดๆ แล้ว เรากล่าวคำว่าขอบคุณซึ่งกันและกันขณะรับประทานอาหาร ขอบคุณแป้งและดิวที่เขียนเว็บไซต์ให้ออกมาตามโจทย์ที่พวกเราคิด ขอบคุณวินและก๊อตที่ออกแบบเว็บไซต์ได้สวยงามทันสมัย ขอบคุณโอ๊ตและดิวที่คิดค้นแผนธุรกิจให้โปรเจคนี้สามารถดำเนินการต่อไป และขอบคุณจุ้ยที่ได้รังสรรค์คอนเทนต์มาประกอบเว็บไซต์ให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

    นี่บ้านเอหรือบ้านทรายทอง
    นี่บ้านเอหรือบ้านทรายทอง

    ท้ายที่สุดผมมองว่าค่าย YWC#16 นี้ไม่ได้ให้แค่ความรู้ ไม่ได้ให้แค่อาหารที่พัก ไม่ได้ให้แค่เพื่อน แต่ยังได้ให้ประสบการณ์การทำงานกับคนอื่นที่มีพื้นฐานต่างกัน แต่ยังได้ให้มิตรภาพระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้องที่เวลามีปัญหาก็พร้อมที่จะเข้ามาช่วยเหลือเสมอ แต่ยังได้ให้คำแนะนำดีๆ ที่สามารถนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ หากถามผมว่าสรุปแล้วมันคุ้มไหมกับความพยายามตั้ง 3 ปีที่พยายามสมัคร ผมคงตอบได้แค่ว่าลองมาเข้าสักครั้งแล้วคุณจะได้รู้ด้วยตัวเองว่ามันคุ้มไหมกับความพยายามเหล่านั้น



  • รีวิวเครื่องรูดบัตรขนาดพกพา Mini-EDC ของธนาคารกสิกรไทย

    รีวิวเครื่องรูดบัตรขนาดพกพา Mini-EDC ของธนาคารกสิกรไทย

    Mini-EDC ร่วมขับเคลื่อนสังคมไทยไร้เงินสด สังคมที่เราสแกนเพื่อจ่ายตั้งแต่ขนมในร้านสะดวก ร้านข้าวในมหาวิทยาลัย จนกระทั้งจ่ายสิ่งของเครื่องใช้ในห้างสรรพสินค้า

    แม่มณี ปี๊ปจัง เป๋าตุง บีชัวร์ มั่งมี ฯลฯ ล้วนเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิดอกออกผลจากสิ่งที่เรียกว่า “พร้อมเพย์” หากคุณเป็นคนใช้ คุณก็ไม่จำเป็นต้องกังวลมากนัก มีเงินสดก็ใช้เงินสด ถ้าไม่มีก็ลองมองหาป้ายคิวอาร์โค้ดซักนิด แต่ถ้าหากคุณเป็นร้านค้าละ แค่คิวอาร์โค้ดกระดาษใส่ป้ายอะคริริกเพียงพอแล้วหรอในยุคนี้ ?

    EDC (Electronic Data Capture) เครื่องรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เราเรียกติดปากกันในชื่อ “เครื่องรูดบัตร” เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีหนึ่งที่ฝั่งลูกค้าชื่นชอบเป็นอย่างมาก เนื่องจากไม่ต้องพกเงินสด แถมเวลามีปัญหาก็สามารถแจ้งไปยังธนาคารเจ้าของบัตรได้ทันที แต่ทว่าฝั่งร้านค้ากลับต้องคิดเยอะกว่านั้น การจะมีเครื่องรูดบัตรไว้ในร้านตนเองซักเครื่องก็ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่เหมือนกัน ทั้งค่าประกันเครื่อง ค่าเช่าเครื่องรายเดือน รวมไปถึงค่าธรรมเนียมจากบัตรประเภทต่าง ๆ โดยเฉพาะบัตรเครดิตประเภทสูง ๆ บางบัตรโดนชาร์จไปถึง 2.5%

    ใช่ว่าจะมีแต่ข้อเสีย การรับชำระผ่านบัตร ช่วยป้องกันความผิดพลาดของพนักงานในการทอนเงิน ทั้งยังเพิ่มความมั่นใจให้เจ้าของได้ว่า เงินที่พนักงานรับชำระมานั้น จะได้ครบถ้วนตามจำนวนราคาของ

    K-bank-Mini-EDC
    เครื่อง Mini-EDC ของธนาคารกสิกรไทย

    ในช่วงต้นปีที่ผ่านมามีสองธนาคารใหญ่ที่ได้ออกเครื่องรับชำระเงินแบบพกพาก็คือธนาคารไทยพาณิชย์ และ ธนาคารกสิกรไทย สำหรับเครื่องที่ ดรศ จะมารีวิวในวันนี้เป็นเครื่องจากธนาคารกสิกรไทย ใช้ชื่อทางการค้าว่า Mini-EDC ผลิตโดยบริษัท Ingenico รุ่น Link/2500 ซึ่งรองรับการชำระเงินหลากหลายรูปแบบ

    Mini-EDC รองรับการชำระเงินด้วยวิธีการที่หลากหลาย

    รับชำระด้วยบัตรเครดิตและบัตรเดบิตแบบมีชิปการ์ด

    1.) รองรับการชำระด้วยบัตรเครดิตและบัตรเดบิตแบบมีชิปการ์ด จากแบรนด์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น VISA, MasterCard, JCB, UnionPay รวมไปถึง Thai Payment Network

    ยังคงรองรับบัตรแบบแถบแม่เหล็กอยู่

    2.) หากบัตรของท่านยังเป็นแบบเก่าอยู่ ก็ไม่ต้องกังวลไปแต่อย่างใด เพราะด้านบนของตัวเครื่อง ยังมีช่องให้รูดบัตรประเภทนี้อยู่

    เวฟ ๆ เครื่องก็รองรับ โดยสามารถนำบัตรทาบที่หน้าจอได้เลย

    3.) รองรับการชำระเงินแบบ Contactless ทั้ง PayWave และ PayPass

    ชำระด้วยคิวอาร์โค้ด

    4.) รองรับการชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ด ทั้งพร้อมเพย์ อาลิเพย์ และ วีแชท

    สิ่งที่ซ่อนอยู่ข้างหลังตัวเครื่อง Mini-EDC

    แบตของตัวเครื่องมีความจุ 1250 mAh ใช้สายชาร์จแบบ USB-Type C ซึ่งทางธนาคารให้มาแต่สาย ไม่ให้อะแดปเตอร์มาด้วย เราสามารถหยิบอะแดปเตอร์โทรศัพท์มาเสียบชาร์จได้ทันที

    ใช้ซิมของเอไอเอสด้วย

    เมื่อเราแกะแบตเตอร์รี่ออกก็จะพบกับซิมเอไอเอสหลบซ่อนอยู่ ซึ่งเป็นอีกค่าใช้จ่ายหนึ่งที่ทางร้านต้องแบกรับภาระเดือนละ 107 บาท

    หากร้านของคุณสนใจที่จะมีเครื่อง Mini-EDC ไปไว้ในร้าน ดรศ แนะนำให้ขอก่อนสิ้นปีนี้ (2561) เพราะทางธนาคารกำลังจัดโปรโมชั่นฟรีค่าประกัน ค่าเช่าเครื่องรายเดือน ทั้งยังได้ค่าธรรมเนียมในการรูดบัตรประเภทต่าง ๆ ในอัตราพิเศษอีกด้วย

    รายละเอียดเพิ่มเติม : Mini-EDC