รีวิวเครื่องรูดบัตรขนาดพกพา Mini-EDC ของธนาคารกสิกรไทย

Mini-EDC ร่วมขับเคลื่อนสังคมไทยไร้เงินสด สังคมที่เราสแกนเพื่อจ่ายตั้งแต่ขนมในร้านสะดวก ร้านข้าวในมหาวิทยาลัย จนกระทั้งจ่ายสิ่งของเครื่องใช้ในห้างสรรพสินค้า

แม่มณี ปี๊ปจัง เป๋าตุง บีชัวร์ มั่งมี ฯลฯ ล้วนเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิดอกออกผลจากสิ่งที่เรียกว่า “พร้อมเพย์” หากคุณเป็นคนใช้ คุณก็ไม่จำเป็นต้องกังวลมากนัก มีเงินสดก็ใช้เงินสด ถ้าไม่มีก็ลองมองหาป้ายคิวอาร์โค้ดซักนิด แต่ถ้าหากคุณเป็นร้านค้าละ แค่คิวอาร์โค้ดกระดาษใส่ป้ายอะคริริกเพียงพอแล้วหรอในยุคนี้ ?

EDC (Electronic Data Capture) เครื่องรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เราเรียกติดปากกันในชื่อ “เครื่องรูดบัตร” เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีหนึ่งที่ฝั่งลูกค้าชื่นชอบเป็นอย่างมาก เนื่องจากไม่ต้องพกเงินสด แถมเวลามีปัญหาก็สามารถแจ้งไปยังธนาคารเจ้าของบัตรได้ทันที แต่ทว่าฝั่งร้านค้ากลับต้องคิดเยอะกว่านั้น การจะมีเครื่องรูดบัตรไว้ในร้านตนเองซักเครื่องก็ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่เหมือนกัน ทั้งค่าประกันเครื่อง ค่าเช่าเครื่องรายเดือน รวมไปถึงค่าธรรมเนียมจากบัตรประเภทต่าง ๆ โดยเฉพาะบัตรเครดิตประเภทสูง ๆ บางบัตรโดนชาร์จไปถึง 2.5%

ใช่ว่าจะมีแต่ข้อเสีย การรับชำระผ่านบัตร ช่วยป้องกันความผิดพลาดของพนักงานในการทอนเงิน ทั้งยังเพิ่มความมั่นใจให้เจ้าของได้ว่า เงินที่พนักงานรับชำระมานั้น จะได้ครบถ้วนตามจำนวนราคาของ

K-bank-Mini-EDC
เครื่อง Mini-EDC ของธนาคารกสิกรไทย

ในช่วงต้นปีที่ผ่านมามีสองธนาคารใหญ่ที่ได้ออกเครื่องรับชำระเงินแบบพกพาก็คือธนาคารไทยพาณิชย์ และ ธนาคารกสิกรไทย สำหรับเครื่องที่ ดรศ จะมารีวิวในวันนี้เป็นเครื่องจากธนาคารกสิกรไทย ใช้ชื่อทางการค้าว่า Mini-EDC ผลิตโดยบริษัท Ingenico รุ่น Link/2500 ซึ่งรองรับการชำระเงินหลากหลายรูปแบบ

Mini-EDC รองรับการชำระเงินด้วยวิธีการที่หลากหลาย

รับชำระด้วยบัตรเครดิตและบัตรเดบิตแบบมีชิปการ์ด

1.) รองรับการชำระด้วยบัตรเครดิตและบัตรเดบิตแบบมีชิปการ์ด จากแบรนด์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น VISA, MasterCard, JCB, UnionPay รวมไปถึง Thai Payment Network

ยังคงรองรับบัตรแบบแถบแม่เหล็กอยู่

2.) หากบัตรของท่านยังเป็นแบบเก่าอยู่ ก็ไม่ต้องกังวลไปแต่อย่างใด เพราะด้านบนของตัวเครื่อง ยังมีช่องให้รูดบัตรประเภทนี้อยู่

เวฟ ๆ เครื่องก็รองรับ โดยสามารถนำบัตรทาบที่หน้าจอได้เลย

3.) รองรับการชำระเงินแบบ Contactless ทั้ง PayWave และ PayPass

ชำระด้วยคิวอาร์โค้ด

4.) รองรับการชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ด ทั้งพร้อมเพย์ อาลิเพย์ และ วีแชท

สิ่งที่ซ่อนอยู่ข้างหลังตัวเครื่อง Mini-EDC

แบตของตัวเครื่องมีความจุ 1250 mAh ใช้สายชาร์จแบบ USB-Type C ซึ่งทางธนาคารให้มาแต่สาย ไม่ให้อะแดปเตอร์มาด้วย เราสามารถหยิบอะแดปเตอร์โทรศัพท์มาเสียบชาร์จได้ทันที

ใช้ซิมของเอไอเอสด้วย

เมื่อเราแกะแบตเตอร์รี่ออกก็จะพบกับซิมเอไอเอสหลบซ่อนอยู่ ซึ่งเป็นอีกค่าใช้จ่ายหนึ่งที่ทางร้านต้องแบกรับภาระเดือนละ 107 บาท

หากร้านของคุณสนใจที่จะมีเครื่อง Mini-EDC ไปไว้ในร้าน ดรศ แนะนำให้ขอก่อนสิ้นปีนี้ (2561) เพราะทางธนาคารกำลังจัดโปรโมชั่นฟรีค่าประกัน ค่าเช่าเครื่องรายเดือน ทั้งยังได้ค่าธรรมเนียมในการรูดบัตรประเภทต่าง ๆ ในอัตราพิเศษอีกด้วย

รายละเอียดเพิ่มเติม : Mini-EDC


โพสต์เมื่อ

ใน

,