หมวดหมู่: PressRelease

  • เอไอเอส ร่วมกับ สธ. ติดอาวุธดิจิทัล อสม. นักรบเสื้อเทา

    เอไอเอส ร่วมกับ สธ. ติดอาวุธดิจิทัล อสม. นักรบเสื้อเทา

    เอไอเอส ร่วมกับ สธ. ติดอาวุธดิจิทัล อสม. นักรบเสื้อเทา เพิ่มฟีเจอร์ คัดกรองและติดตามโควิด-19 บนแอป อสม.ออนไลน์ พร้อมฟรี!ประกันภัย หนุนการทำงานเชิงรุก ป้องกันการแพร่ระบาดรอบ 2

    สานต่อภารกิจ “AIS 5G สู้ภัยโควิด-19” ต่อเนื่อง เอไอเอส นำเทคโนโลยีและดิจิทัลโซลูชันเข้าเสริมทัพสาธารณสุข พาประเทศฝ่าวิกฤต ล่าสุดผนึก กระทรวงสาธารณสุข ติดอาวุธ อสม. นักรบเสื้อเทา เพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 แบบครบวงจร ตั้งแต่ระดับรากฐานไปจนถึงการรายงานผลภาพรวมในระดับประเทศ โดยการพัฒนาใหม่ฟีเจอร์บนแอปพลิเคชัน อสม. ออนไลน์ ช่วย อสม. ให้สามารถ เฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง คัดกรอง และติดตามกลุ่มเสี่ยงโควิด-19 ได้แบบเรียลไทม์ พร้อมมอบ “ซิมฮีโร่” พิเศษเพื่อสมาชิก อสม. ให้สามารถปฏิบัติภารกิจได้แบบไม่มีสะดุด พร้อมส่งความห่วงใยมอบฟรีประกันภัยโควิด-19 เพื่อเป็นกำลังใจและสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจป้องกันการแพร่ระบาดรอบ 2

               จากกรณีที่ปัจจุบันการตรวจพบผู้ติดเชื้ออยู่ในอัตราที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการของภาครัฐ ความร่วมมือของประชาชนที่ร่วมกันเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) รวมไปถึงการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข และ อสม. ทั่วประเทศที่ทุ่มเททั้งแรงกาย และแรงใจ ในการรักษา ฟื้นฟู และป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไวรัสชนิดนี้อย่างหนักมาโดยตลอด แต่ทว่ามาตรการคลายล็อกดาวน์ที่ภาครัฐกำลังผ่อนปรนให้หลายๆ ธุรกิจกลับมาเปิดให้บริการได้อีกครั้ง อาจจะเป็นตัวจุดชนวนการแพร่ระบาดของเชื้อในระลอกที่ 2 ได้ จึงเป็นโจทย์สำคัญที่ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกันยับยั้งไม่ให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น

                นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอส กล่าวว่า “นับจากวันที่ เอไอเอส ได้ประกาศวิสัยทัศน์ในการนำพลานุภาพของเครือข่ายอัจฉริยะ 5G สนับสนุนการทำงานของทีมแพทย์ พยาบาล ยกระดับงานสาธารณสุขให้สามารถทำงานเชิงรุก ควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมานั้น ปัจจุบันเราได้ทยอยส่งมอบการสนับสนุนดังกล่าว เป็นงบประมาณกว่า 177 ล้านบาท สู่ทีมแพทย์ พยาบาลด่านหน้าในการรับมือวิกฤตในครั้งนี้อย่างต่อเนื่อง พร้อมขยายเครือข่ายติดตั้งสัญญาณ 5G ในโรงพยาบาลที่รับตรวจโควิด-19 แล้วกว่า 161 โรงพยาบาลทั่วประเทศ  และตั้งศูนย์เฉพาะกิจ AIS Robotic Labs พัฒนา Robot for Care หุ่นยนต์ผู้ช่วยแพทย์ทำหน้าที่ตรวจรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ช่วยรักษาระยะห่างระหว่างหมอและคนไข้ ส่งมอบแล้ว 23 ตัว ให้กับโรงพยาบาล 22 แห่ง ซึ่งสามารถช่วยแบ่งเบาภารกิจของทีมแพทย์ พยาบาลได้อย่างดี”

               “แม้วันนี้สถานการณ์โรคโควิด-19 ของประเทศไทย จะผ่านจุดวิกฤตมาแล้ว จากจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ที่เริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง และรัฐบาลเริ่มคลายล็อกดาวน์ เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อได้ ในทางกลับกันก็อาจเป็นการเพิ่มโอกาสความเสี่ยงที่จะเพิ่มปริมาณผู้ติดเชื้อในระลอก 2 ได้ ดังนั้นการเฝ้าระวัง ตรวจสอบอย่างใกล้ชิด ในชุมชนทั่วประเทศ    จากการทำงานของกลุ่ม อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. ฉายา “นักรบเสื้อเทา” ที่มีอยู่กว่า 1 ล้าน 5 หมื่นราย จึงมีความสำคัญสูงสุด ในการสกัดกั้นการระบาดในระลอกที่ 2”

    นายสมชัย กล่าวว่า “ที่ผ่านมากว่า 4 ปี เราได้นำความรู้ ความเชี่ยวชาญ พร้อมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ร่วมเสริมขีดความสามารถการทำงานของภาคสาธารณสุขไทย  โดยมุ่งเน้นไปที่สาธารณสุขระดับมูลฐาน ทั่วประเทศ ผ่านการทำงานอย่างใกล้ชิดกับ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. ที่เป็นฟันเฟืองสำคัญในระบบสาธารณสุขของไทย เพราะเป็นจิตอาสาที่มีความใกล้ชิดกับคนในชุมชน และเป็นเครือข่ายการทำงานของหน่วยบริการสุขภาพ และ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ซึ่งทำหน้าที่ให้ความรู้ด้านการรักษาพยาบาล ฟื้นฟู ส่งเสริม สภาพร่างกายและจิตใจ ตลอดจนป้องกันโรค ด้วยนวัตกรรมดิจิทัลแอปพลิเคชัน อสม. ออนไลน์ เครือข่ายสังคมออนไลน์เฉพาะกลุ่มการทำงานด้านสาธารณสุขชุมชนเชิงรุกระหว่างหน่วยบริการสุขภาพและ อสม. ทั้งนี้ปัจจุบันมี อสม.ดาวน์โหลดและใช้งานแอปนี้แล้วกว่า 4 แสน 1 หมื่นราย

                 โดยล่าสุด เพื่อร่วมแบ่งเบาและเสริมขีดความสามารถของ อสม.ยุคดิจิทัล  ในสถานการณ์โควิด-19 เอไอเอส จึงนำเทคโนโลยีดิจิทัลโซลูชันมาสนับสนุนการทำงานของ อสม. นักรบเสื้อเทาเพิ่มเติม ดังนี้

    1) พัฒนาฟีเจอร์ใหม่ “คัดกรองและติดตาม COVID-19”​ บนแอปพลิเคชัน อสม. ออนไลน์
               สนับสนุนแนวทางการทำงาน ของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพที่จัดกิจกรรม “อสม.เคาะประตูบ้านต้านโควิด-19”  โดยพัฒนาฟีเจอร์คัดกรองและติดตามโควิด-19 บน แอปพลิเคชั่น อสม.ออนไลน์ เพื่อให้ อสม.ใช้เป็นเครื่องมือในการเฝ้าระวังความเสี่ยง คัดกรอง และติดตามผลกลุ่มเสี่ยงผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในชุมชน ด้วยรูปแบบรายงานดิจิทัลที่ อสม.สามารถบันทึกได้ง่าย สะดวก รวดเร็วในการติดตามผล  และเรียลไทม์ ทางมือถือ ทำให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข รพ.สต. สาธารณสุขอำเภอ และสาธารณสุขจังหวัด สามารถติดตามข้อมูลรายละเอียดการคัดกรองผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่อื่นๆ, สมาชิกในบ้านที่อาจมีความเสี่ยง  รวมถึงการติดตามกลุ่มเฝ้าระวัง 14 วัน ในแต่ละครัวเรือนที่ได้อย่างเป็นระบบและทันต่อเหตุการณ์ 

                พร้อมเตรียมเปิดตัวฟีเจอร์ รายงานการคัดกรองผู้มีความเสี่ยงปัญหาสุขภาพจิต เพื่อช่วยติดตาม ผู้ที่มีความเสี่ยงปัญหาสุขภาพจิตจากสถานการณ์โควิด-19 ได้อย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งแสดงคำแนะนำที่เหมาะสม เพื่อให้ อสม. ได้แนะนำความรู้ การปฏิบัติตัวที่ถูกต้องเบื้องต้น รวมทั้งเป็นเครื่องมือเชิงรุกในการค้นหาผู้ที่มีความเสี่ยงสูงเพื่อนำเข้าสู่ระบบการรักษาได้อย่างทันท่วงที โดยจะเปิดให้บริการฟีเจอร์นี้ภายในเร็วๆนี้

    2) มอบ “ซิมฮีโร่” เพื่อสมาชิก อสม. ให้ใช้งานแอปฯ อสม. ออนไลน์ ได้ไม่สะดุด เน็ตไม่รั่ว ค่าโทรราคาพิเศษ
                สนับสนุน “ซิมฮีโร่” ให้แก่ อสม. ทั่วประเทศ มอบอินเทอร์เน็ตสำหรับใช้งานบนแอปพลิเคชัน อสม. ออนไลน์ ได้ฟรีไม่จำกัด ที่ความเร็ว 1 Mbps  เล่นเน็ตไม่รั่ว ที่ความเร็ว 128 kbps โทรทุกเครือข่ายวินาทีละ 2 สตางค์ ทุกเครือข่าย ตลอด 24 ชั่วโมง นานสูงสุด 1 ปี

              

    3) มอบฟรี ประกันภัย ให้นักรบเสื้อเทา เพิ่มความอุ่นใจในการปฏิบัติงาน
               มอบสิทธิ์ความคุ้มครองประกันภัยให้ อสม. ที่มีอายุระหว่าง 16 – 85 ปี ทั่วประเทศ ฟรี! โดยมีระยะเวลาคุ้มครอง 30 วัน คุ้มครองการเสียชีวิตทุกกรณี 50,000 บาท และรับความคุ้มครองชดเชยรายวัน 400 บาท/วัน สูงสุดไม่เกิน 15 วัน เมื่อเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลในฐานะผู้ป่วยในจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 (ดูเงื่อนไขบริการได้ที่ www.ais.co.th/aorsormor)

               โดย อสม. ที่ใช้บริการเครือข่าย เอไอเอส หรือ  อสม. ที่รับซิมฮีโร่ สามารถรับลิงก์ลงทะเบียนความคุ้มครองได้โดยกด *268*เลขบัตรประชาชน 13 หลัก# และกดเครื่องหมายโทรออก สมาชิก อสม. ที่ลงทะเบียนถูกต้องจะได้รับข้อความ SMS ยืนยันความคุ้มครอง ระยะเวลาเอาประกันภัย 30 วัน (ตามเงื่อนไขที่กำหนด) จากบริษัทประกันฯ ภายในระยะเวลา 5 วันทำการ

    ซิมฮีโร่ จาก เอไอเอส วันทูคอล

               ด้าน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า “นับตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม 2563 ที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในไทยได้ทวีความรุนแรงขึ้น โดยมีบุคลากรด้านสาธารณสุขเป็นด่านหน้าสำคัญในการต่อสู้กับสงครามโควิด-19 ซึ่งนอกเหนือจากหมอ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องแล้ว กลุ่มบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในสนับสนุนการทำงานเชิงรุกของกระทรวงสาธารณสุข นั่นคือ กลุ่ม อสม. ที่ทำงานด้วยหัวใจของความเป็นจิตอาสา เข้าถึงชุมชนในแต่ละพื้นที่ของตัวเองได้อย่างทั่วถึง เพื่อดูแลและส่งมอบความห่วงใยถึงคนในชุมชน

               จนถึงวันนี้ ประเทศไทยได้พิสูจน์ตัวเองแล้วว่าเป็นประเทศอันดับต้นๆ ที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการทำงานอย่างหนักของทีม อสม. ทั่วประเทศ ร่วมทำงานเชิงรุกในการค้นหาและตรวจคัดกรองผู้มีความเสี่ยงไปจนถึงผู้ติดเชื้อในชุมชนได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เราสามารถติดตามตัวผู้ป่วยมารับการรักษาได้อย่างทันท่วงที จนถึงขณะนี้เรียกได้ว่า ประเทศไทยสามารถผ่านพ้นช่วงวิกฤตของการแพร่ระบาดไปได้แล้ว

                อย่างไรก็ตาม นี่เป็นสถานการณ์ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่เรายิ่งต้องทำงานอย่างหนักเพื่อเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่อาจเกิดขึ้นซ้ำได้ ดังนั้น เหล่า อสม. จะยังเป็นกำลังหลักในการทำหน้าที่ตรวจสอบและคัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยงในชุมชน ทั้งจากการเดินทางมาจากพื้นที่อื่น และมีประวัติสัมผัสเชื้อ เพื่อให้บุคคลดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการเฝ้าระวังและสังเกตอาการให้เร็วที่สุด ซึ่งการจะทำอย่างนั้นได้อย่างทันท่วงที จำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยสนับสนุนร่วมด้วย

                โดยเรามีความยินดีอย่างยิ่งที่ เอไอเอส ได้นำความรู้ความเชี่ยวชาญที่มีอยู่มาสร้างสรรค์นวัตกรรมเทคโนโลยีที่ทรงประสิทธิภาพผ่านแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ และยังได้พัฒนาฟีเจอร์คัดกรองและติดตามโควิด-19 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อให้ อสม.ใช้เป็นเครื่องมือในการเฝ้าระวังความเสี่ยง คัดกรอง และติดตามผลกลุ่มเสี่ยงผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในชุมชน พร้อมสนับสนุนระบบสื่อสาร ซิมฮีโร่ พร้อมแพ็กเกจให้สมาชิก อสม. สามารถใช้งานเน็ตบน แอป อสม.ออนไลน์ ได้ฟรีไม่จำกัด ทั้งยังได้รับความคุ้มครองประกันภัย เพื่อสมาชิก อสม. ที่คุ้มครองการเสียชีวิต ทุกกรณี และค่าชดเชยรายวันเมื่อพักรักษาตัวในโรงพยาบาลจากการติดเชื้อโควิด-19  อันจะช่วยสร้างความอุ่นใจและเป็นกำลังใจให้สมาชิก อสม.ในการปฏิบัติหน้าที่เป็นอย่างดีต่อไป

                ขอขอบคุณ สำหรับหัวใจจิตอาสาของ อสม.ทุกท่าน ที่ได้ทุ่มเททำงานเพื่อชุมชนและประเทศของท่านอย่างเต็มกำลังความสามารถ และขอบคุณภาคเอกชนที่ใช้ขีดความสามารถเข้ามาร่วมในภารกิจต้านภัยโควิดในครั้งนี้  และผมเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่า แอปฯ อสม.ออนไลน์ พร้อมฟีเจอร์ใหม่เฝ้าระวังไวรัสโควิด-19  จะเป็นเสมือนการติดอาวุธดิจิทัลให้กับเจ้าหน้าที่นักรบเสื้อเทาของเรา สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมเป็นกำลังสำคัญในการนำพาประเทศก้าวผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้ด้วยดี”

  • สมาคมผู้ดูแลเว็บไทย จัดเวิร์กช็อปใหญ่ด้านดิจิทัลส่งท้ายปี

    สมาคมผู้ดูแลเว็บไทย จัดเวิร์กช็อปใหญ่ด้านดิจิทัลส่งท้ายปี

    สมาคมผู้ดูแลเว็บไทย ร่วมกับ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, บริษัท เอ็กซอนโมบิล จำกัด, ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ Young Webmaster Camp ครั้งที่ 17 เจาะลึกวิชาชีพเว็บมาสเตอร์และวงการดิจิทัลภายใต้หัวข้อ “Social Change, Arrange The World – มิติใหม่ เว็บสร้างสังคม” เปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษา ทั่วประเทศที่มีใจรักในการทำเว็บไซต์ ได้เข้าร่วมอบรมจากกูรูมืออาชีพ และลงมือปฏิบัติจริงในการสร้างเว็บไซต์ พร้อมส่งผลงานประชันไอเดียสุดสร้างสรรค์

    สมาคมผู้ดูแลเว็บไทยจัดเวิร์กช็อปใหญ่ด้านดิจิทัล “YWC17” ส่งท้ายปี มุ่งปั้นนักศึกษาเข้าสู่วงการ

              นายวโรรส โรจนะ นายกสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย เปิดเผยว่า “ในยุคของ Digital Disruption ที่เทคโนโลยีสามารถเปลี่ยนแปลงการทำธุรกิจ และพฤติกรรมของมนุษย์อย่างรวดเร็ว จึงเป็นโอกาสอันดีที่เราจะสามารถใช้เทคโนโลยีในปัจจุบันแก้ไขปัญหาสังคมหลายๆ อย่าง พร้อมทั้งพัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคมให้ดีขึ้น อย่างที่ไม่สามารถทำมาก่อนได้ นี่จึงเป็นที่มาของธีมค่ายในปีนี้ “Social Change, Arrange The World – มิติใหม่ เว็บสร้างสังคม” ซึ่งเราหวังว่าจะเป็นการจุดประกายความคิด และเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ที่ตั้งคำถามกับหลายๆ ปัญหาในสังคม ให้ลุกขึ้นมาใช้ความสามารถ และความคิดสร้างสรรค์เปลี่ยนโลกให้น่าอยู่ขึ้นด้วยมือของเขาเอง”

              โครงการ YWC ได้สร้างผลิตผลเข้าสู่วงการดิจิทัล อุตสาหกรรมไอที ภาคแรงงาน จนถึงธุรกิจสตาร์ทอัปอย่างต่อเนื่อง โดยนักศึกษาที่ผ่านการคัดเลือกทั้ง 80 คน จะได้เรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ จากพี่ๆ ในวงการออนไลน์และดิจิทัลอย่างใกล้ชิด ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งประสบการณ์เรียนรู้จริง ที่สมาคมผู้ดูแลเว็บไทย ได้ออกแบบกิจกรรมเรียนรู้ และปรับเนื้อหาให้สอดคล้องต่อสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อให้นิสิต นักศึกษาจากทั่วประเทศที่ได้รับคัดเลือก ได้เรียนรู้เทคนิคใหม่ๆ จากกูรูผู้เชี่ยวชาญและวิทยากรชื่อดังในวงการออนไลน์ เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่สนามอาชีพด้านดิจิทัลออนไลน์ในอนาคต

              ด้าน นางสาวศิรณัชชา วุฒิประพันธ์พงศ์ ผู้จัดการ โครงการ Young Webmaster Camp ครั้งที่ 17 กล่าวว่า “ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการนี้ ได้ติดอาวุธทางปัญญา เพิ่มพูนความรู้ สร้างเสริมขีดความสามารถและจริยธรรมในการประกอบวิชาชีพเว็บมาสเตอร์ ให้กับนิสิต นักศึกษาทั่วประเทศแล้วกว่า 1,000 คน และในครั้งที่ 17 นี้ มีผู้สนใจกรอกใบสมัครเข้าร่วมโครงการกว่า 902 คน ซึ่งผ่านการพิจารณาจากแบบทดสอบและสัมภาษณ์จากคณะกรรมการเหลือเพียง 80 คนเท่านั้น”

    ผู้เข้าร่วมกิจกรรมกำลังเพลิดเพลินไปกับเวิร์กช็อปเจาะลึกวิชาชีพเว็บมาสเตอร์และวงการดิจิทัล YWC17

              ตลอดระยะเวลาโครงการ 4 วัน 3 คืน ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับการฝึกอบรมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิในแวดวงดิจิทัลหลากหลายท่าน อาทิ นายขจร เจียรนัยพานิชย์ หรือ Khajochi แห่ง Zero Publishing, นายอินทนนท์ ปัญญาโสภา ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Grappik, นายจักรพงษ์ คงมาลัย จาก Moonshot Digital ที่จะมามอบความรู้ แนะนำทักษะ และถ่ายทอดประสบการณ์การทำงานในสาขาต่างๆ อย่างใกล้ชิด ผู้อบรมจะได้ร่วมเรียนรู้ ฝึกทักษะ ได้รับประสบการณ์ตรงจากคนดิจิทัล กิจกรรมบรรยายเเต่ละสาขาเเบบเจาะลึก กิจกรรมระดมความคิด ลงพื้นที่เก็บข้อมูล ในการคิดออกแบบโครงงาน และนำเสนอผลงานจริงต่อคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในวันปิดโครงการอีกด้วย

              ส่วน นายณัฏฐชัย เลาหชัย Solution Advisor บริษัท เอ็กซอนโมบิล จำกัด ผู้สนับสนุนหลักของโครงการกล่าวว่า “ปัจจุบันนี้ในเทคโนโลยีได้เข้าไปเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจในหลากหลายอุตสาหกรรม ดังจะเห็นได้จากการที่หลายๆ บริษัทเริ่มปรับตัว นำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในสายการทำงาน ดังนั้นการที่น้องๆ ได้มีโอกาสมาเข้าร่วมค่ายที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัลจะเป็นพื้นฐานสำคัญที่ช่วยเพิ่มโอกาส สร้างความแตกต่างให้กับโปรไฟล์ ซึ่งจะตอบโจทย์กับสิ่งที่บริษัทเอกชนกำลังมองหา”

    สมาคมผู้ดูแลเว็บไทยและพันธมิตรจัดเวิร์กช็อปใหญ่ด้านดิจิทัล “YWC17” ส่งท้ายปี มุ่งปั้นนักศึกษาเข้าสู่วงการ

              ในช่วงท้ายผู้เข้าร่วมกิจกรรมรับฟังบรรยายพิเศษจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ในหัวข้อ “การทำงานในวงการดิจิทัล” บอกเล่าประสบการณ์ แนะแนวทางในการทำงานให้มีทั้งความสุขและความท้าทายไปพร้อมกันๆ และหัวข้อ “จริยธรรมและกฎหมายควรรู้ในยุคดิจิทัล” สิ่งที่คนทำเว็บควรต้องรู้ เพื่อไม่ให้ตัวเองทำผิดกฎหมาย

              “กิจกรรมที่จัดขึ้นในครั้งนี้ได้รับความสนใจจากนิสิต นักศึกษาทั่วประเทศเป็นจำนวนมาก ถือเป็นตัวอย่างสำคัญของการเปิดพื้นที่ให้น้องๆ ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน แสดงออกอย่างสร้างสรรค์ เพื่อพัฒนาตนเองให้เป็นพลเมืองดิจิทัลที่มีความรู้ความสามารถ อันจะเป็นรากฐานสำคัญที่จะช่วยยกระดับเศรษฐกิจไทยในอนาคต” นางสาวศิรณัชชา กล่าวปิดท้าย

  • สมาคมเว็บฯ จัดเต็ม! สร้างสรรค์ค่าย JWC11 ปูแนวทางเด็ก ม.ปลาย สู่วิชาชีพผู้ดูแลเว็บไซต์

    สมาคมเว็บฯ จัดเต็ม! สร้างสรรค์ค่าย JWC11 ปูแนวทางเด็ก ม.ปลาย สู่วิชาชีพผู้ดูแลเว็บไซต์

    สมาคมผู้ดูแลเว็บไทย ร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ “เปิดโลกวิชาชีพเว็บมาสเตอร์” ครั้งที่ 11 หรือ Junior Webmaster Camp 11 เปิดโอกาสให้เยาวชนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า ได้เข้ามาสัมผัส เรียนรู้ ทักษะทางด้านดิจิทัล ซึ่งสามารถนำไปใช้ได้จริง ตอบโจทย์ทุกสาขาอาชีพ ผ่านการเวิร์กช็อปสุดเข้มข้นจากชมรมเยาวชนผู้ดูแลเว็บไทย รุ่น 16 และผู้เชี่ยวชาญระดับแนวหน้าของเมืองไทยตลอดระยะเวลา 3 วัน 2 คืน

    Junior Webmaster Camp 11

                  นายศรัณย์ แบ่งกุศลจิต กรรมการสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย ซึ่งเป็นที่ปรึกษาโครงการ กล่าวว่า “เราเล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการพัฒนามนุษย์ที่สามารถใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งต่อตนเอง สังคม และส่วนรวมได้ เพราะฉะนั้นในปีนี้ทางโครงการจึงได้มีการแบ่งการอบรมออกเป็น 4 สาขาตามความสนใจของน้องๆ ทั้ง นักเขียนเนื้อหาบนเว็บไซต์ (Web Content Editor),  นักออกแบบเว็บไซต์ (Web Designer), นักการตลาดออนไลน์ (Web Marketer) และนักพัฒนาระบบเว็บไซต์ (Web Programmer) ทุก ๆ สาขาจะได้เรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านโดยตรง ซึ่งถือเป็นโอกาสอันดีที่จะให้น้องๆ ได้ค้นพบเส้นทางความชอบของตัวเอง ซึ่งความชอบนั้นอาจจะเป็นอาชีพในอนาคตของน้องๆ ด้วย”

    นายศรัณย์ กล่าวต่อว่า “ในตลอดระยะเวลา 3 วัน 2 คืน เราได้วางกำหนดการไว้ให้เหมาะสมกับการเรียนรู้มากที่สุด สอดแทรกทั้งวิชาการ กิจกรรม สันทนาการ ซึ่งในปีนี้มีหัวข้อหลักหรือโจทย์ในการสร้างสรรค์ผลงานคือ “การแก้ปัญหาในโรงเรียน” ซึ่งก็จะให้น้องๆ ในกลุ่มช่วยกันดึงปัญหาที่พบเจอในโรงเรียน มาลองพัฒนาเว็บไซต์ออกมาเพื่อแก้ปัญหานั้น ซึ่งค่ายนี้ก็จะปิดท้ายด้วยการให้น้องได้นำเสนอผลงานที่น้องๆ ในทีมช่วยกันสร้างสรรค์ขึ้นมา และมีคณะกรรมการซึ่งเป็นผู้มีประสบการณ์ในวงการเว็บไซต์เป็นผู้ให้คำแนะนำเพื่อให้น้องๆ ได้เรียนรู้และนำไปปรับใช้งาน”

                  Junior Webmaster Camp 11 เป็นโครงการที่ไม่มีค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมโครงการใดๆ ทั้งสิ้น โดยในปีนี้มีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 6 – 8 เมษายน 2562 ณ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ถนนแจ้งวัฒนะ จังหวัดนนทบุรี               เยาวชนที่สนใจสามารถกรอกใบสมัครได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 20 มีนาคม 2562 ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมและสมัครได้ที่เว็บไซต์ WWW.JWC.IN.TH แฟนเพจ Junior Webmaster Camp (https://www.facebook.com/jwcth) และทวิตเตอร์ @JWCTH (https://twitter.com/jwcth)