เยือนพิพิธภัณฑ์ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ | Suvarnabhumi Airport Museum คนรักสนามบินและเครื่องบินถูกใจแน่นอน

·

,

พิพิธภัณฑ์ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ | Suvarnabhumi Airport Museum ตั้งอยู่ที่อาคารจอดรถ 3 ชั้น 6 หรือฝั่งตรงข้ามอาคารผู้โดยสาร ชั้น 4 ประตู 8 ซึ่งเปิดให้บริการ วันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 09:00 – 16:00 น. ประชาชนทั่วไปฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น

โถงทางเข้าพิพิธภัณฑ์
ห้องเกริ่นนำ

พิพิธภัณฑ์ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 19 พฤศจิกายน 2559 โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเสร็จเป็นประธานในพิธีเปิด ภายในจะมีห้องทั้งหมด 9 ห้อง ซึ่งแต่ละห้องจะเป็นข้อมูลต่าง ๆ ของสุวรรณภูมิ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยในส่วนนี้ผู้เข้าเยี่ยมชมจะได้รับชมบทกวี “ผู้แสวงหากับกาลเวลา 24 ชั่วโมง” ซึ่งประพันธ์โดย คุณจีระนันท์ พิตปรีชา นักกวีซีไรท์

วิดีทัศน์ภายในห้องที่ 1
ห้องที่ 1 ใต้ฟ้าพระบารมี The Shining light in Thai Sky

ห้องนี้จะกล่าวถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่มีต่อท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งพระองค์ได้พระราชทานนามมงคลให้กับสนามบินแห่งนี้ว่า “สุวรรณภูมิ” ที่มีความหมายว่า แผ่นดินทาง โดยพระองค์ได้พระราชทานเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2543 และพระองค์ได้เสร็จพระราชดำเนินประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ เพื่อเป็นหลักชัยให้กับสนามบินแห่งนี้ในวันที่ 19 มกราคม 2545 ระหว่างเวลา 17:49 น. – 18:49 น.

แผนที่แผ่นดินทอง (สุวรรณภูมิ)
ห้องที่ 2

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ผู้ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็น “พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย” ทรงระบุว่า ศูนย์กลางของดินแดนสุวรรณภูมิอยู่ที่ประเทศไทย หลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงการเป็นศูนย์กลางแห่งอารยธรรม การเดินทางเพื่อแลกเปลี่ยนสินค้า และการเผยแผ่ความเชื่อทางศาสนา คือเหล่าโบราณวัตถุอันเป็นสินค้าจากแหล่งอารยธรรมของโลก ทั้งโรมัน เปอร์เซีย อินเดีย และจีน กระจัดกระจายอยู่ตามแหล่งโบราณคดีต่าง ๆ อาทิ กลองมโหระทึก ลูกปัด เครื่องปั้นดินเผา เครื่องใช้สำริดและเหรียญโลหะต่าง ๆ ซึ่งถูกส่งต่อเป็นทอด ๆ จากชุมชนสู่ชุมชน

ห้องที่ 3 วันเวลาแห่งความสำเร็จ
ห้องที่ 3 วันเวลาแห่งความสำเร็จ
กำเนิดการบินพลเรือนในไทย

วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2454 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระ
มงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โดย นายฟาน เดอร์บอร์น (Van Den Bourne) นักบินชาวเบลเยี่ยมบินจากกรุงไซ่ง่อน มาลงจอดที่สนามม้าสระปทุม เพื่อสาธิตให้ประชาชนชาวไทยได้ชมในตอนนั้น โดยจอมพลสมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าฟ้าจักพงภูมินาถกรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ได้เสร็จร่วมบินกับ นายฟาน เดอร์บอร์นด้วย หลังจากนั้นท่านมีความสนใจเกี่ยวกับการบิน และได้จัดตั้งแผนกการบินขึ้นมา จึงทำให้ทรงได้รับการยกย่องว่าเป็น “พระบิดาแห่งกองทัพอากาศไทย”

การบินครั้งแรกในประเทศไทย


กระทรวงกลาโหม มีการคัดเลือกนายทหารบก 3 นาย ได้แก่ นายพันตรีหลวงศักดิ์ศัลยาวุธ ร้อยเอกอาวุธสิชิกร และร้อยโททิพย์ เกตูทัต เพื่อเดินทางไปศึกษาวิชาการบิน ณ ประเทศฝรั่งเศส เป็นเวลา 3 ปี เมื่อสำเร็จการศึกษาด้านการบินแล้ว จึงเดินทางกลับสู่ประเทศไทย พร้อมกับเครื่องบินจำนวน 8 ลำ แต่ทว่าสนามม้าสระปทุมไม่เหมาะที่จะสร้างเป็นสนามบินแห่งแรกของประเทศไทย เนื่องจากมีพื้นที่คับแคบ ประกอบกับมีน้ำขังบ่อย จึงมอบหมายให้ พันตรีหลวงศักดิ์ศัลยาวุธ บินหาพื้นที่ที่เหมาะสม ท่านจึงได้พบที่ อำเภอบางเขน ซึ่งชาวบ้านแถวนั้นเรียกว่า “ดอนอีเหยี่ยว” หรือในปัจจุบันก็คือ “ดอนเมือง”

ใบอนุญาตขับเครื่องบินในยุคนั้น

ต่อมาได้ส่ง นายเลื่อน พงษ์โสภณ ไปศึกษาที่ประเทศฝรั่งเศส เกี่ยวกับช่างซ่อมเครื่องบิน เป็นระยะเวลานานถึง 3 ปี ระหว่างอยู่ที่นั้น นายเลื่อนได้เก็บเงินจากการรับจ้างบินพาดโพนตามรัฐต่าง ๆ ซื้อเครื่องบินด้วยเงินสะสมของท่านเองและกลับมายังประเทศไทย

โดยตั้งชื่อเครื่องบินว่า “นางสาวสยาม” หรือ “Miss Siam” นับเป็นเครื่องบินพลเรือนลำแรกของประเทศไทย และทำการบินไประหว่างประเทศไทยกับประเทศจีน ซึ่งนับว่าเป็นการบินเส้นทางระหว่างประเทศของไทยอีกด้วย

นางสาวสยาม เครื่องบินพลเรือนลำแรกของไทย

บริษัท การบินไทย จํากัด (มหาชน) เดิมที่ชื่อ “เดินอากาศไทย” ซึ่งตอนเปิดบริษัทครั้งแรกได้ร่วมหุ้นกับ บริษัทสแกนดิเนเวียนแอร์ไลน์ มาเป็นพี้เลี้ยงเนื่องจากไทยยังไม่มีประสบการณ์ในการบินเชิงพาณิชย์ และในปี 2520 ก็ได้มีการซื้อหุ้นกลับมาและเป็นของคนไทยเพียงผู้เดียว

บริษัท เดินอากาศไทย จำกัด
การก่อสร้างสนามบิน

สนามบินสุวรรณภูมิ มีแผนการก่อสร้าง ตั้งแต่ปี 2502 ในยุคของ จอมพลสลิต ธนรัต แต่ในตอนนั้นไทยมีปัญหาหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ การเมือง และเทคโนโลยีต่าง ๆ จึงยังไม่ได้เริ่มสร้างในตอนนั้น

ในปี 2506 – 2516 ทางสนามบินได้มีการเวนคืนที่ดินจาก 5,000 ไร่ จนครบ 20,000 ไร่ ประกอบกับสนามบินดอนเมืองไม่เพียงพอต่อการรองรับผู้โดยสารที่เพิ่มมากขึ้นในทุกปี จึงนับได้ว่าเป็นวาระแห่งชาติที่จำเป็นจะต้องสร้างสนามบินแห่งใหม่ขึ้น

ระบบปรับอากาศของสนามบินสุวรรณภูมิ มี 2 ระบบ คือ พื้นหล่อเย็น และถ่ายเทลมเย็น ทั้ง 2 ระบบนี้ทำงานร่วมกันโดยมีน้ำเย็นเป็นตัวกลาง
ห้องที่ 4 เส้นทางแห่งความภูมิใจ
แบบจำลองเส้นทางการคมนาคมและการระบายน้ำรอบท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

ระบบป้องกันน้ำท่วมในสนามบินสุวรรณภูมิ มีทั้งหมด 2 ระบบ ทั้งภายในและภายนอก โดยภายในจะมีเขื่อนดินล้อมรอบท่าอากาศยาน ยาว 23.5 กิโลเมตร สูง 3.5 เมตร กว้าง 70 เมตร และด้านในจะมีคลองขนานเขื่อนดิน กว้าง 30 เมตร สูง 2 เมตร เพื่อที่จะระบายน้ำภายในสนามบิน ให้เชื่อมต่อกับอ่างเก็บน้ำ ที่มีทั้งหมด 6 อ่าง ซึ่งสามารถเก็บน้ำได้สูงสุด 5 วันโดยที่ไม่ต้องระบายออก สามารถจุน้ำได้ 3.2 ล้านลูกบาศก์เมตร ทางทิศใต้ทั้ง 2 อ่าง จะมีสถานีสูบน้ำ เพื่อที่จะระบายน้ำสู่คลองภายนอกสนามบินและลงสู่ทะเลอ่าวไทยต่อไป

ระบบป้องกันภายนอกสนามบิน มีคันกันน้ำทั้งหมด 3 คัน มีคันกันน้ำชายทะเล เพื่อป้องกันน้ำทะเลหนุน คันกันน้ำพระราชดำริของในหลวง และคันกันน้ำจากฝั่งตะวันออก

แบบจำลองสถานีสูบน้ำสุวรรณภูมิ
ห้องที่ 5 9 มหัศจรรย์สุวรรณภูมิ
9 มหัศจรรย์สุวรรณภูมิ

1. หลังคาผ้าใยสังเคราะห์ ประกอบด้วยแผ่นผ้าใยสังเคราะห์ชนิดพิเศษ 3 ชั้น
– ชั้นนอก ผ้าใยสังเคราะห์โพลีเอททิลีน (Poly Ethylene: PE) สีขาว เหนียว ยืดหยุ่นช่วยกระจายความร้อน สามารถทำความสะอาดตัวเองได้เมื่อได้รับน้ำฝน
– ชั้นกลาง พลาสติกโพลีคาร์บอเนต (Poly Carbonate) ใส แบบเดียวกับที่ใช้ทำเกราะกันกระสุนป้องกันเสียงรบกวน ช่วยป้องกันความร้อนจากภายนอกและการเก็บอุณหภูมิภายในอาคารได้เป็นอย่างดี
– ชั้นใน เส้นใยโพลีเอททิลีน มีรูระบายอากาศเพื่อระบายความร้อนภายในตัวอาคารผู้โดยสาร

ระบบปรับอากาศ

2. ระบบปรับอากาศ มีทั้งหมด 2 ระบบ ประกอบด้วย
– ระบบถ่ายเทลมเย็น หรือระบบระบายความร้อนด้วยน้ำเย็นหมุนเวียน ใช้น้ำเย็นเป็นตัวกลางในการถ่ายเทความร้อนระหว่างเครื่องส่งลมเย็นกับเครื่องทำน้ำเย็น จ่ายน้ำเย็นผ่านท่อใต้พื้นไปยังตู้จ่ายลมเย็นตามจุดต่าง ๆ ในอาคาร
– ระบบพื้นหล่อเย็น ทำงานโดยการส่งน้ำเย็นไปตามท่อขนาดเล็ก ที่ถูกฝังเป็นแนวอยู่ใต้พื้น เพื่อส่งผ่านความเย็นออกมา ทำให้อากาศเหนือระดับพื้นเย็นสบาย โดยส่งความเย็นสูงจากพื้นที่ประมาณ 2-3 เมตร มีอุณหภูมิเฉลี่ย 24-25 องศาเซลเซียส

3. การปรับปรุงคุณภาพดิน ที่ตั้งของสนามบิน มีสภาพเป็นดินอ่อนชุ่มน้ำ ทำให้จำเป็นจะต้องมีการปรับปรุงคุณภาพดิน โดยใช้ระบบสูบน้ำแบบสุญญากาศออกจากชั้นดิน โดยฝังท่อลึกลงไป 11 เมตร เมื่อดูดน้ำออก จะทำให้ดินเหนียวยุบตัวลง จากนั้นจึงใช้ทรายกดทับสูง 2 เมตร ประกอบการใช้หินคลุกร่วม โดยใช้ระยะเวลาในการปรับปรุงคุณภาพดินมากกว่า 3 ปี ถึงเริ่มมีการก่อสร้างสนามบิน

แบบจำลองสนามบินสุวรรณภูมิ

4. หอบังคับการบิน มีความสูง 132.2 เมตร มีทั้งหมด 34 ชั้น ก่อสร้างโดยใช้วิธีการหล่อขึ้นทีละชั้น โดยใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างเพียง 22 เดือน จากที่วางแผนการก่อสร้างไว้ทั้งหมด 30 เดือน (หอบังคับการบินที่สูงที่สุดในโลกปัจจุบันแชมป์เป็นของ Jeddah King Abdulaziz, Saudia Arabia โดยมีความสูงทั้งสิ้น 136 เมตร)

5. โรงซ่อมบำรุงอากาศยาน มีขนาดกว้าง 90 เมตร ยาว 270 เมตร สูง 45 เมตร มีพื้นที่ใช้สอยรวม 24,300 ตารางเมตร สามารถจอดเครื่องบิน Boeing 747 ได้ 5 ลำ พร้อมกัน หรือเครื่อง Airbus A380 ได้ 3 ลำพร้อมกัน โดยมีเสาคอนกรีต ขนาด 3×4 เมตร สูง 30 เมตร เพียง 2 ต้น เพื่อรองรับโครงสร้างหลังคาทั้งหมด

6. เสาหลักและโครงสร้างเหล็กถักขนาดใหญ่ มีน้ำหนัก 1,800 ตัน ต่อ 1 ชุด โดยมี 3 ชิ้น ในการยกคานขึ้นสู่ยอดเสาใช้เวลา 1 สัปดาห์ เพราะคานอย่างเดียวมีน้ำหนักสูงถึง 1,500 ตัน

แบบจำลองโครงสร้างอาคาร

7. โครงเหล็กถัก 5 PIN TRUSS เป็นโครงเหล็กถักทรงโค้ง โดยเป็นเหล็กปลอดสนิมทั้งผนังและเพดาน มี 5 สลัก สามารถรองรับแผ่นดินไหวถึง 5.5 แมกนิจูด

8. ผนังกระจก ติดตั้งด้วยระบบไร้กรอบที่มีความยืดหยุ่น สามารถใช้แสงสว่างจากธรรมชาติช่วยในการประหยัดพลังงาน และทำให้อาคารดูโปร่ง โล่ง ใช้กระจกนิรภัยกบแผ่นการติดตั้ง โดยใช้เคเบิลไร้สนิม เพื่อให้สามารถขยับและถ่ายเทแรงปะทะจากด้านข้าง เช่น กรณีแรงลมฝน หรือ แรงแผ่นดินไหว

9. การย้ายท่าอากาศยานที่สำเร็จอย่างสมบูรณ์ การโยกย้ายฐานปฏิบัติการจากท่าอากาศยานกรุงเทพ มายัง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยระหว่างการโยกย้ายนั้นจะต้องให้การปฏิบัติงานของท่าอากาศยานยังสามารถดำเนินการต่อได้อย่างปกติ ทอท. จึงได้มอบหมายให้ ท่าอากาศยานนานาชาติมิวนิค สาธารณรัฐเยอรมันซึ่งมีความเชี่ยวชาญและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล เป็นผู้ดำเนินการในด้านการทดสอบการปฏิบัติการโยกย้าย (Trial Operations and Relocation) ซึ่งจะต้องมีการเตรียมความพร้อมล่วงหน้า 5 ปี ก่อนการเปิดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิอย่างเต็มรูปแบบ

แบบจำลองท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
ห้องที่ 6 อัตลักษณ์ไทยสู่สากล

งานประติมากรรม ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีลักษณะเฉพาะตัวอันโดดเด่น ด้วยการออกแบบทางสถาปัตยกรรมโดยการหลอมรวมเข้ากับเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอันเป็นมรดกของชาติ งานจิตรกรรม การตกแต่งภายใน รวมถึงงานประติมากรรม

  • กินรี สัญลักษณ์ของการต้อนรับ เนื่องจากกินรีมีปีก ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการบิน มีจำนวนทั้งสิ้น 36 ตน
  • ยักษ์ จำลองมาจากวัดพระแก้ว โดยตั้งหน้าประตู ด้วยความเชื่อที่ว่าไม่ให้สิ่งชั่วร้ายผ่านไปได้ เนื่องจากสนามบินก็เปรียบเสมือนประตูด่านแรกที่ต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก ดังนั้นจึงได้มีการจำลองยักษ์ในสนามบินเพื่อป้องกันสิ่งชั่วร้าย โดยมีทั้งหมด 12 ตน
รูปปั้นตำนานกวนเกษียรสมุทร ที่ชั้นขาออก สนามบินสุวรรณภูมิ
ที่มา: Al Pavangkanan from Van Nuys
  • เทวตำนานการกวนเกษียรสมุทร เป็นเหตุการณ์กวนเกษียรสมุทรของเหล่าเทพและอสูร เพื่อให้ได้น้ำอมฤต สื่อความหมายถึงความยั่งยืนและรุ่งเรืองแก่ท่าอากาศยานและผู้ใช้บริการ

… เมื่อเริ่มพิธีกวนเกษียรสมุทร พระอินทร์คิดไว้อยู่แล้วว่าถ้าชักนาคเมื่อไหร่ นาคจะต้องเจ็บปวดและต้อนพ้นพิษออกมาแน่ ๆ พระอินทร์จึงได้หลอกให้ยักษ์อยู่ทางหัวของนาค และให้เทพอยู่ทางหาง เมื่อเริ่มกวนนาคก็พ้นไฟพิษไปโดนยักษ์ ทั้งยักษ์ทั้งนาคต่างก็ต้องทรมาณจากพิธีนี้ มีแต่เทพเท่านั้นที่สบาย พิธีนี้ใช้เวลากวนเป็นพัน ๆ ปี กว่าจะได้น้ำอมฤต ในขณะที่กวนจะมีของวิเศษออกมา 14 ชนิด อย่างสูดท้ายก็จะเป็นน้ำอมฤต

เมื่อพากันกวนจนได้น้ำอมฤตแล้ว พวงยักษ์เห็นนางอัปสรซึ่งสวยมาก ๆ ก็พากันไล่จับนางอัปสร แต่ไม่ใช่ว่ายักษ์ทุกตนจะบ้าผู้หญิง ยังมีพระราหูที่ไม่บ้าจี้ไปไล่จับนางอัปสร ก็มาต่อคิวดื่มน้ำอมฤตกับเขาด้วย แต่ในขณะที่กำลังดื่มอยู่นั้น พระอาทิตย์กับพระจันทร์เห็นเข้าก็ไปฟ้องพระนารายณ์ พระนารายณ์เลยขว้างจักรใส่พระราหู แต่ด้วยอำนาจของน้ำอมฤตที่ดื่มเข้าไป ทำให้ราหูขาด 2 ท่อน แต่ไม่ตาย เหลือแต่ช่วงบน ราหูรู้สึกโกรธพระอาทิตย์กับพระจันทร์มาก เจอที่ไหนจะต้องเอามากิน แต่กินอย่างไรก็ออกมาอยู่ดี เพราะตนมีแค่ครึ่งท่อนเท่านั้น …

ห้องที่ 7 ศักยภาพระดับโลก

ในระยะแรกสนามบินสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 45 ล้านคนต่อปี และในปีที่ผ่านมา (ปี 2558) มีผู้ใช้บริการมากถึง 55 ล้านคนต่อปี จึงมีพัฒนาโครงการขึ้น ประกอบไปด้วย อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 เพื่อรองรับผู้โดยสารเพิ่มอีก 15 ล้านคน เป็น 60 ล้านคน และหลุมจอดแบบประชิดอาคารอีก 28 หลุมจอด โดยจะใช้รถไฟใต้ดิน เป็นขนส่งในการเชื่อมต่อระหว่างอาคารผู้โดยสารหลัก กับอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (เฟส 2) โดยทำการเริ่มก่อสร้างเมื่อ 14 กันยายน 2559

แผนการก่อสร้าง

พร้อมทั้งจะทำการก่อสร้าง อาคารสำนักงานส่วนขยายตรงบริเวณสวนในเมือง ภายในถูกออกแบบให้เป็นอาคารสำนักงานขายของสายการบินต่าง ๆ มีเคาน์เตอร์เช็กอิน และมีการก่อสร้างลานจอดรถเพิ่มขึ้น โดยสามารถรองรับรถยนต์ได้เพิ่มขึ้นอีก 1,000 คัน จากนั้นในเฟส 3 จะทำการสร้างรันเวย์ที่ 3 ทางฝั่งตะวันตกเพิ่มขึ้นอีก 1 รันเวย์ จากเดิม 2 รันเวย์ สามารถรองรับเที่ยวบินได้ 76 เที่ยวบินต่อ 1 ชั่วโมง และเมื่อรันเวย์ที่ 3 เสร็จ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิสามารถรับรองเที่ยวบินได้เพิ่มเป็น 94 เที่ยวบินต่อ 1 ชั่วโมง และเมื่อรันเวย์สร้างเสร็จ ทางท่าอากาศยานฯ จะทำการสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ขึ้น มีทั้งหมด 15 หลุมจอด เชื่อมต่อจากอาคารผู้โดยสายหลังแรกด้วยระบบ APM และ APL

ห้องที่ 8 ท่าอากาศยานแห่งรอยยิ้ม

ท่าอากาศยานแห่งรอยยิ้ม คือหัวใจสำคัญของการให้บริการท่าอากาศยาน ซึ่งหมายถึงการให้บริการด้วยรอยยิ้ม และการให้ความไว้วางใจเรื่องของความปลอดภัยทางด้านการบิน รวมไปถึง อัคคีภัย และการให้การดูแลในด้านต่าง ๆ อาทิ การบำบัดน้ำเสียที่รองรับน้ำเสียได้ในประมาณมากถึง 18,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน การคัดแยกขยะที่ไม่สร้างมลพิษให้กับสนามบินและชุมชนโดยรอบ รวมถึงการสร้างเลนปั่นจักรยานเพื่อให้ผู้สนใจมาใช้บริการ

ห้องที่ 9 แสงทองส่องทางสู่ปลายฟ้า “ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ”

ภายในห้องนี้ ได้มีการนำเสนอ มหัศจรรย์เลข 9 ภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เนื่องจากการก่อสร้างท่าอากาศยานฯ เกิดขึ้นในรัชสมัยของรัชกาลที่ 9 จึงได้ออกแบบโดยนำเลข 9 ซึ่งเป็นเลขมงตลมาออกแบบโครงสร้างต่าง ๆ

มหัศจจรย์เลข 9
  • เสาหลักของอาคารผู้โดยสารมีทั้งหมด 9 ชุด หรือ 18 ต้น (1+8 = 9)
  • เสายึดผนังกระจกของอาคารผู้โดยสาร ห่างกัน 9 เมตร มีทั้งหมด 126 ต้น (1+2+6 = 9)
  • ผ้าใยสังเคราะห์ ณ อาคารเทียบเครื่องบินมี 108 ชุด (1+0+8 = 9)
  • อาคารที่พักผู้โดยสาร กว้าง 108 เมตร (1+0+8 = 9)
  • เสาหลักของอาคารผู้โดยสาร มีความห่างกัน 126 เมตร (1+2+6 = 9)
  • เสาหลักของอาคารผู้โดยสาร (Pylon) ห่างกัน 81 เมตร (8+1 = 9)
  • อาคารที่พักผู้โดยสาร สูง 45 เมตร (4+5 = 9)
  • อาคารที่พักผู้โดยสาร ยาว 441 เมตร (4+4+1 = 9)
  • โครงเหล็กหลังคาอาคารเทียบเครื่องบินแต่ละช่วง ห่างกัน 27 เมตร (2+7 = 9)
แบบจำลองท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เมื่อมองจากด้านหลังอาคาร

ที่มา: สคริปต์การบรรยายของมัคคุเทศก์พิพิธภัณฑ์ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จำนวนทั้งสิ้น 7 หน้า