ป้ายกำกับ: DPU

  • กว่าจะเป็น “นพรัตน์ทองคำ” ฝ่ายชายคนที่ 32

    กว่าจะเป็น “นพรัตน์ทองคำ” ฝ่ายชายคนที่ 32

    นพรัตน์ทองคำ เป็นการประกวดภายในมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เพื่อเฟ้นหานักศึกษาที่มีความพร้อมครบทั้ง 9 ประการตามความหมายของคำว่านพรัตน์โดยผู้เข้าร่วมประกวดทุกคนจะต้องผ่านเกณฑ์การคัดเลือกที่ตั้งไว้สูง ทั้งยังต้องผ่านการเคี่ยวที่เข้มข้นจากกิจกรรมต่าง ๆ ที่ทางคณะกรรมการได้จัดขึ้น

    เมื่อโอกาสมาจงคว้ามันไว้

    ย้อนกลับไปเมื่อสมัยเป็นเฟรชชี่ ผมได้เห็นข่าวการประกวดนพรัตน์อยู่หลายครั้ง ทั้งข่าวการรับสมัคร ข่าวการทำกิจกรรม รวมไปถึงการประกาศผลผู้ที่รับตำแหน่งในปีนั้น อาจารย์หลาย ๆ ท่านก็เคยพูดถึงว่าเป็นการประกวดนี้ว่าเป็นการประกวดที่สูงที่สุดในมหาวิทยาลัย เนื่องจากมีเกณฑ์คัดเลือกที่สูง กิจกรรมที่ต้องทำให้ครบทุกเงื่อนไข เพราะฉะนั้นใครที่ผ่านการประกวดนี้มาได้ ไม่จำเป็นจะต้องชนะเป็นอันดับ 1 ก็ถือได้ว่ามีความสามารถ ความโดดเด่นอยู่พอสมควร

    เมื่อขึ้นปี 3 เทอม 2 ผมได้เห็นโปสเตอร์การรับสมัครในช่วง 2 วันสุดท้ายก่อนหมดเขตส่งใบสมัคร เมื่อผมได้ทำการอ่านอย่างละเอียดก็พบว่าเงื่อนไขผมผ่านทุกอย่าง ทั้งเกรดเฉลี่ย ภาษา และพฤติกรรม แต่ผมลังเลที่จะเข้าประกวดในครั้งนี้มาก เพราะเมื่ออ่านเอกสารอีกรอบพบว่าการส่งเข้าประกวดสามารถทำได้ 2 วิธี คือ ส่งชื่อตัวเอง หรือให้ทางคณะเป็นคนส่ง ในใจตอนนั้นสับสนมาก โดยส่วนตัวเป็นคนคิดมากอยู่แล้ว ผมคิดไปถึงกระทั้งว่า ถ้าเราส่งชื่อตัวเอง คนอื่นจะมองว่าเรามั่นปะวะ อาจารย์ในคณะเขาจะคิดอะไรยังไงกับเรา ทั้ง ๆ ที่ในเกณฑ์การประกวดก็เปิดกว้างอิสระให้แต่ละคณะส่งผู้เข้าประกวดจำนวนกี่คนก็ได้ แต่ผมก็ยังคิดมากอยู่ดี

    แรงผลักดัน

    เหมือนการคิดมาก และการอยากประกวดของผม จะเป็นระบบอัตโนมัติส่งโทรจิตไปหาอาจารย์ท่านหนึ่งในสาขา ในช่วงเที่ยงของวันนั้นเอง อาจารย์ ณัทธสิฐษิ์ สิริปัญญาธนกิจ ก็ส่งข้อความเข้าเฟซบุ๊กเมสเสนเจอร์ แนะนำการประกวดนี้ ทั้งยังย้ำถึงสิ่งที่จะได้รับ หากเข้าร่วมประกวด ท่านก็ถามผมว่าสนใจจะเข้าประกวดไหม โอกาสมาอยู่แค่เอื้อมมือขนาดนี้แล้ว อาจารย์ในคณะก็สนับสนุนอีก คงไม่มีเหตุผลอะไรที่ผมจะตอบปฏิเสธไป

    ปฐมนิเทศ

    การประกวดได้เริ่มต้นขึ้น วันแรกที่เราจะได้พบผู้เข้าแข่งขันคนอื่น ๆ และท่านคณะกรรมการคือวันปฐมนิเทศนั้นเอง ในวันนั้นตามกำหนดการได้ระบุว่าการปฐมนิเทศจะเริ่มต้นขึ้นในเวลาประมาณ 14.00 น. แต่วันนั้นผมเลิกเรียนตั้งแต่ 12.00 น. หากจะให้รออยู่เฉย ๆ 2 ชั่วโมง คงจะเฉาแย่ ผมก็เลยตัดสินใจจะไปเดอะมอล์กับเพื่อน อีกทั้งผมถึงวันนัดบริจาคเลือดพอดี จึงคิดว่าหากทำธุระ ทานข้าวเที่ยงกับเพื่อนเสร็จแล้ว ก็คงจะแวะไปบริจาคเลือด แล้วค่อยวกกลับไปงานปฐมนิเทศ

    13.45 น. ผมยังต่อคิวรับบริจาคเลือดอยู่ ความคิดในหัวตอนนั้นเริ่มตีกันเป็นอย่างมาก เพราะไม่คิดว่าคนจะเยอะขนาดนี้ ก็เลยบอกกับพี่พยาบาลว่าถ้างั้นผมขอเก็บใบนี้ไว้ก่อน เพราะผมต้องกลับไปปฐมนิเทศในเวลา 14.00 น. ถ้าเลิกเร็วเดี๋ยวผมจะกลับมาอีกรอบ เป็นการตัดสินใจที่ผิดมาก ที่ผมวางเวลาไว้แบบนี้

    แน่นอนครับ ความผิดพลาดจึงเกิดขึ้นตั้งแต่วันแรกในการประกวด เพราะผมไปปฐมนิเทศ “สาย” ผมไปถึงหน้างานตอน 14.05 น. หากจะดูแบบผิวเผินมันก็คือ 5 นาที แต่ทว่ามันเป็นการพบกันครั้งแรก ผมคงทำให้หลาย ๆ ท่านมองผมไม่ดีอยู่ไม่น้อยในเรื่องความรับผิดชอบและการตรงต่อเวลา ที่สำคัญคืองานปฐมนิเทศเริ่มก่อนเวลา เมื่อผมเปิดประตูห้องเข้าไป คุณพระนี้น่าจะถือได้ว่ากลางงานแล้ว ตอนต้นพวกเขาพูดอะไรกัน นัดแนะอะไรกันหรือเปล่า ในใจตอนนั้นกระวนกระวายเป็นอย่างมาก ตอนนั้นคิดได้อย่างเดียว ทำตัวนิ่ง ๆ มองหาที่นั่งที่ว่าง และนั่งลงไป

    ปฐมนิเทศนพรัตน์ทองคำ
    ผู้เข้าร่วมการปฐมนิเทศนพรัตน์ทองคำครั้งที่ 32

    พี่ปุ๊ หนึ่งในทีมงานการประกวดก็เดินเข้ามาหาผมในอีก 2 – 3 นาทีถัดมา บอกให้ผมออกไปข้างนอก เพื่อจะลงทะเบียนเข้าร่วมงานและจับหมายเลขผู้เข้าประกวดในครั้งนี้ เมื่อพี่ปุ๊ เห็นลายมือ เขาก็จำใบสมัครของผมได้ทันทีว่าเป็นของใคร พี่เขายังแซวด้วยว่าอาจารย์ ณัทธสิฐษิ์ เพิ่งวิ่งมาส่งในวันสุดท้ายของวันรับสมัคร หลังจากเซ็นชื่อเข้าร่วมงานเสร็จ พี่ปุ๊ ก็หยิบโถฉลากมา โถใบนั้นมีกระดาษม้วนหมายเลขเหลืออยู่ประมาณ 5 ใบ มือซ้ายของผมเคลื่อนเข้าไปในโถ คนทุกใบให้คละกันพอเป็นพิธี ผมหยิบได้หมายเลข 36

    อย่างเหลือเชื่อ

    เมื่อผมกลับเข้ามาในงาน พี่ทีมงานอีกท่านก็เข้ามาถามผมว่าผมนั่งหมายเลขอะไร เพราะทุกที่นั่งได้งานมีหมายเลขประจำเก้าอี้อยู่ ผมตอบกลับไปว่า “36 ครับ” เหลือเชื่อครับ ที่นั่งตรงนั้นก็คือที่ผมเข้ามานั่งในตอนแรก ไม่ได้โดนเปลี่ยนที่ไปแต่อย่างใด

    เมื่อการปฐมนิเทศเสร็จสิ้นลงผมไม่รอช้าที่จะถามเพื่อนสนิทผมว่าตอนต้นผมพลาดอะไรบ้าง เขาบอกผมว่า เขาเลือกประธาน รองประธานการประกวดไปแล้ว นัดแนะกำหนดการแข่งขันกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งยังกำหนดวันส่งแฟ้มสะสมผลงานแล้วด้วย โชคดีที่ว่าการพูดคุยในวันนี้ทั้งหมด จะมีการสรุปลงไลน์กลุ่ม ทำให้ผมไม่พลาดกับสิ่งที่สำคัญ

    ผู้เข้าประกวดนพรัตน์ทองคำครั้งที่ 32 ถ่ายภาพหมู่ร่วมกัน
    ถ่ายภาพหมู่ร่วมกัน

    แฟ้มสะสมผลงาน

    แฟ้มสะสมผลงาน
    หน้าปกแฟ้มสะสมผลงานของ ดรศ

    แฟ้มสะสมผลงานมีน้ำหนัก 5 คะแนน โดยส่วนตัวมองว่าการจะทำคะแนนในส่วนนี้ให้ดีที่สุด ไม่ใช่การมีผลงานเยอะเพียงอย่างเดียว สิ่งที่เป็นกลยุทธ์หลักของผมในการเก็บคะแนนจากส่วนนี้คือการเรียบเรียงเอกสาร เรียบเรียงผลงานทุกอย่างออกมาอย่างมีระบบ  แบ่งหัวข้อ แบ่งหมวดหมู่ โดยส่วนตัวเป็นคนที่มีผลงานกับกิจกรรมในมหาวิทยาลัยค่อนข้างน้อย แต่จะเน้นทำกิจกรรมกับสังคมภายนอกมากกว่า เพราะฉะนั้นการเรียบเรียงอย่างมีระบบ คัดผลงานเด่น ผลงานรอง จัดลำดับหน้าดี ๆ ก็คงจะช่วยเสริมความมั่นใจของแฟ้มเราได้ไม่น้อย

    หมวดหมู่ในแฟ้มสะสมผลงาน
    การแบ่งหมวดหมู่ในแฟ้มสะสมผลงาน

    อีกอย่างการเขียนเรียงความเกี่ยวกับตัวเอง ควรเขียนเรียงตามลำดับเวลาตั้งแต่ประถม มัธยม ไปจนกระทั้งถึงมหาวิทยาลัย แสดงให้เห็นว่าตนเองผ่านกิจกรรมอะไรมาบ้าง ได้ทำอะไรเพื่อส่วนร่วมบ้าง อย่างน้อยที่สุดก็คงทำให้ผู้อ่านซึ่งเป็นกรรมการสามารถร้อยเรียงเรื่องราวต่าง ๆ ได้

    เรียงความ
    ควรเขียนเรียงตามลำดับเวลา

    ทักษะทางเทคโนโลยี

    ทักษะทางเทคโนโลยีมีน้ำหนัก 15 คะแนน  นับตั้งแต่เข้าอบรมวันแรกก็เรียกได้ว่างานช้าง เพราะคะแนนหลักที่จะได้จากทักษะนี้มาจากการทำแฟนเพจเฟซบุ๊กเผยแพร่เรื่องเกี่ยวกับนพรัตน์ทองคำ ที่ผมให้คำจำกัดว่างานช้างก็เพราะว่า งานแฟนเพจเฟซบุ๊กเป็นงานที่ต้องอาศัยความต่อเนื่อง ความตั้งใจ และการสือเสาะแสวงหาข้อมูลมาลงเพจอยู่ตลอดเวลา เพื่อไม่ให้ข้อมูลใน Page insight ตกลงไป

    ทักษะทางเทคโนโลยี
    ผู้เข้าร่วมประกวดทุกคนกำลังตั้งใจฟัง อ.ลลิตา

    การจัดกลุ่มทำเพจ พี่ ๆ กรรมการเป็นคนจัดกลุ่มให้กับผู้เข้าประกวด กลุ่มที่ผมอยู่มีคนจากหลากหลายคณะ ซึ่งเป็นคนที่ผมไม่ได้รู้จักเป็นการส่วนตัวก่อนหน้านี้ เรียกได้ว่าหน้าใหม่ ทำตัวกันไม่ถูกเลยทีเดียว

    ให้ความสำคัญกับทุกคน กับทุกความคิดเห็น

    การวางตัวเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะต่างคนมาจากต่างที่ เขาไม่รู้ว่าเราเป็นคนแบบไหนกับการทำงาน เราก็ไม่รู้เขาเหมือนกันว่าจะตั้งใจทำงานแค่ไหน เขาจะฟังเราไหม เราจะเห็นด้วยกับเราหรือเปล่า เพราะฉะนั้นในการเริ่มการทำงานกลุ่มกับคนที่ไม่รู้จักกันมาก่อนเลย ก็คือการต้องทำความรู้จักกัน หาเรื่องคุย เรื่องที่เรากับเขามีแนวทางไปในแนวเดียวกัน เรื่องราวเหล่านี้จะช่วยเสริมให้เราสนิทกันได้ง่ายขึ้น ทั้งยังส่งผลให้งานออกมามีประสิทธิภาพ อีกอย่างที่สำคัญก็คือการรับฟังทุกความเห็น ซึ่งในบางครั้งก็ทำให้เราได้มุมมองหรือแนวคิดในการทำงานใหม่ ๆ ผมจึงวางแผนการทำงานเพจ โดยแบ่งงานให้ทุก ๆ คนเท่ากัน (ให้ความสำคัญกับทุกคน ทุกความเห็น) งานแรกที่ทำช่วยกันออกความคิดเห็นคือชื่อเพจ

    ดรศ ลองใช้ canvas
    ใช้เทมเพลตไหนดี ?

    การคิดชื่อเพจนี้ยากพอ ๆ กับการหาเสียงประกอบมาลงในวิดีโอ เพราะกลุ่มผมตั้งใจว่าแค่อ่านชื่อนี้ก็ต้องเข้าใจว่ากลุ่มเราทำอะไร เพจเราจะนำเสนอเนื้อหาไปในทิศทางไหน ผ่านไปประมาณ 20 นาที จึงคลอดชื่อ Nine Navigator ออกมาได้ คอนเซปคร่าว ๆ คือเส้นทางสู่การเป็นนพรัตน์

    หลังจากจบการอบรมทักษะไอทีก็มีการสื่อสารกันต่อผ่านกลุ่มไลน์ จนได้โลโก้และหน้าปกเพจออกมา

    หน้าแฟนเพจเฟซบุ๊กกลุ่ม https://facebook.com/NineNavigator/

    ซึ่งเพื่อน ๆ เป็นคนโหวตให้ผลงานของผม ถูกนำมาใช้ในเพจจริง

    เนื้อหาและความต่อเนื่อง

    การแข่งขันในส่วนนี้วัดกันที่เนื้อหาและความต่อเนื่องกันเป็นหลัก นั้นหมายความว่ากลุ่มไหนสามารถแสวงหาเนื้อหามาลงได้บ่อยที่สุด ถี่ที่สุด และมีประโยชน์ที่สุดกลุ่มนั้นก็มีโอกาสที่จะชนะในหัวข้อนี้สูงอีกด้วย

    ตัวอย่างโพสต์ของผม

     

    ทักษะการสื่อสาร

    ในทักษะนี้เป็นการคัดในหลายส่วนกิจกรรมเป็นอย่างมาก และมีรางวัลพิเศษสำหรับทักษะนี้ด้วย

    ภาษาประจำชาติ ผู้เข้าร่วมประกวดจำเป็นจะต้อง อ่านจับใจความ สรุปใจความ รวมไปถึงเขียนเรียงความในประเด็นที่กำหนดไว้ให้

    นั่งตากลมรอโจทย์ทักษะภาษาไทย

    ภาษาต่างประเทศ ผู้เข้าร่วมประกวดจะต้องนำเสนอเนื้อหาที่ตนเองสนใจ ในภาษาต่างประเทศที่ตนเองถนัด เมื่อนำเสนอเสร็จสิ้นแล้วคณะกรรมการจะถามคำถามเกี่ยวกับสิ่งที่เรานำเสนอไป

    สอบปากเปล่าภาษาอังกฤษแบบตัวต่อตัว

    การนำเสนอ ในส่วนนี้ทางคณะกรรมการจะมีโจทย์มาให้เราทำการนำเสนอ อย่างเช่นในปีผม ได้รับโจทย์ว่าเป็นเทคโนโลยี นวัตกรรม หรือบริการ ที่ใช้การเรียนรู้แบบ STEM มาสร้างสิ่งที่เปลี่ยนวิถีชีวิตได้ โดยมีข้อแม้ว่าสิ่งที่เราจะนำเสนอจำเป็นจะต้องเกี่ยวกับสาขาที่ตนเองเรียนด้วย เนื่องจากผมเรียนสาขาวิชาการประชาสัมพันธ์ ผมเลยนำเสนอเครื่องมือประชาสัมพันธ์ที่ผู้ลงข่าว สามารถเลือกจุดหมายปลายทาง และดูรายงานผลลัพธ์ได้ โดยไม่จำเป็นต้องจ้างเอเจนซี่มาจัดการให้ นอกจากนี้ส่วนที่จะเป็นคะแนนหลักไม่ได้อยู่ที่เนื้อหาเพียงอย่างเดียว อีกส่วนที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ บุคลิกและทักษะในการนำเสนอ จำเป็นจะต้องทำถูกทุกท่วงท่า ใช้มือให้ถูก ใช้ขาให้ถูก เน้นประโยคให้ถูก ถึงจะได้คะแนนที่สูงในส่วนนี้ไป

    หารูปตัวเองไม่เจอจากกิจกรรมนี้ เอารูปเพื่อนมาละกัน เป็นทักษะที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการนำเสนอมากที่สุด ตั้งแต่การยืน การวางมือ ไปจนกระทั้งการจัดวางข้อความ รูปภาพ บนสไลด์

    การเข้าค่ายนพรัตน์ทองคำ 3 วัน 2 คืน

    กิจกรรมนี้มีน้ำหนัก 20 คะแนน ถือได้ว่าเป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญระดับสูง ไฮไลท์ตัวแดงไว้เลย ทุก ๆ ย่างก้าว ทุก ๆ การขีดเขียน ทุก ๆ คำพูดที่ออกจากปากเรา จะถูกจับตาโดยกรรมการ เรียกได้ว่ามอนิเตอร์ตลอด 24/7 กันเลยทีเดียว

    16 มีนาคม 2561 (วันที่หนึ่ง)

    ตื่นนอนตอนเช้า คว้าผ้าเช็ดตัวรีบบึ่งเข้าไปในห้องน้ำ แต่งตัวด้วยความเร่งรีบ ด้วยความคิดที่ว่าวันนี้เราจะสายไม่ได้นะ ปรากฏไปทันเวลานัดตอน 6.30 น. นี่เป็นครั้งแรกที่เราจะได้เห็นเพื่อน ๆ ร่วมทีม รวมทั้งได้เห็นป้ายชื่อ

    มีความหน้าเทา รวมทั้งเชิดหน้า เพื่อน ๆ ล้อตลอดวัน

    การเข้าค่ายครั้งนี้มีการแบ่งทีมไว้เรียบร้อย โดยมีทั้งหมด 4 สี คือ เขียว ม่วง ฟ้า และชมพู ส่วนผมนั้นได้อยู่ “สีม่วง” มีสมาชิกประมาณ 8 คน หลังจากได้รับป้ายชื่อเรียบร้อย หลังจากนั้นไม่นานรถก็เคลื่อนตัวออกจากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ประมาณ 7 โมงกว่า ไปถึงสถานที่เราต้องทำกิจกรรมแรก

    บ้านถ้ำเสือ

    กำลังขะมักเขม้นกับการทำขนมทองม้วน

    หมู่บ้านแห่งนี้มีบรรยากาศที่สวยงามเป็นอย่างมาก พรรณไม้พฤกษามีหลากหลายวงปีตั้งแต่รุ่นเด็ก ๆ จนไปถึงรุ่นร้อยปี อีกทั้งการมาหมู่บ้านแห่งนี้ทำให้ผมได้เห็นต้นมเหสักข์กับสักข์สยามินทร์ ที่มีขนาดใหญ่หลายคนโอบเป็นครั้งแรก ซึ่งพี่ที่เป็นผู้ดูแลที่นี้บอกว่า หากตัดต้นนี้ไปขายจะสามารถขายได้หลายแสน

    การจะมาหมู่บ้านนี้เพื่อจะมาดูต้นไม้อย่างเดียวก็คงไม่ใช่วิถีของชาวนพรัตน์ กิจกรรมที่ผมได้ทำมีหลายอย่าง อาทิ การทำขนมทองม้วน ผู้สูงอายุในหมู่บ้านนี้ใช้เวลาว่างในการทำขนมทองม้วนขาย ซึ่งป้าที่สอนผมยังบอกอีกว่าแป้งที่ใช้ทำเป็นสูตรพิเศษเฉพาะของที่นี่ ถัดจากการทำขนมก็เป็นการทำ Seed bomb หรือการนำดินเหนียวมาห่อหุ้มเมล็ดพันธ์เพื่อที่จะได้นำหนังสติ๊กมายิงเมล็ดพันธ์ออกไป ผมสนุกกับกิจกรรมนี้เป็นอย่างมาก เพราะเป็นครั้งแรกที่ได้ใช้หนังสติ๊ก

    เพื่อน ๆ กำลังปั้น Seed bomb

    หลังจากเพลิดเพลินไปกับสองกิจกรรมแรกก็มาจบที่การเรียนรู้การทำถ่าน ซึ่งบอกได้คำเดียวว่า “หัวเหม็น” ควันโขมงโฉงเฉง คละคลุ้งไปทั่วบริเวณมาก แต่พี่ที่เป็นผู้นำฐานเขาก็เคลมว่าฐานของเขาใช้แล้วไม่ก่ออันตราย เพราะว่ามีการเผาไหม้ในอุณหภูมิที่สูง ต่อเนื่องในระยะเวลาที่เหมาะสม ทำให้ตัวถ่านมีความบริสุทธิ์ไม่สะสมสารอย่างอื่นไว้ อีกทั้งยังการทำถ่านของที่นี่ยังมีการใช้ตัวกรองควันเพื่อจะกรองเอาน้ำส้มควันไม้อีกด้วย

    เตาอิวาเตะ เตาที่ใช้ทำถ่าน

    หลังจากขอบคุณพี่ ๆ วิทยากรที่หมู่บ้านถ้ำเสือ รถก็มุ่งหน้าไปยัง “ฤทธิมา ศรีชุมแสง ริเวอร์ไซด์ รีสอร์ท” ซึ่งเป็นสถานที่ทำกิจกรรมทั้งหมดที่เหลือ  กิจกรรมในช่วง

    นั่งจำชื่อเพื่อนให้ได้ทั้งหมด

    17 มีนาคม 2561 (วันที่สอง)

    วันนี้ทั้งวัน ตารางแน่นมาก ตั้งแต่เช้าจรดเย็น ในช่วงเช้าตื่นนอนมา มีการออกกำลังกาย ทานอาหารเช้า หลังจากนั้นก็คือการนั่งอบรม การอบรมในวันนี้ไม่ใช่การนั่งฟังเท่านั้น ผู้เข้าร่วมประกวดทุกคนจะต้องทำกิจกรรมร่วมไปด้วย เช่น การแก้ปัญหาขนส่งสิ่งของไปยังพื้นที่ประสบภัย โดยไม่ให้อุปกรณ์ ถุงยังชีพเสียหาย หรือตกหล่นออกมา

    ขณะกำลังทำยานขนส่งอุปกรณ์และถุงยังชีพด้วยถ้วยพลาสติก หลอด และโพสต์อิส

    เมื่อทุกกลุ่มออกแบบยานของตัวเองเสร็จแล้วก็จะมีการแข่งขันกันเกิดขึ้น โจทย์มีความยากขึ้นไปเรื่อย ๆ จากตอนแรกให้ยานลงพื้นโดยไม่เทมาร์ชเมโร่ออกมา ตอนหลังก็จะเป็นการจับเวลา ใครลงช้าสุดชนะ กลุ่มผมมีการปรับปรุงตลอดเวลา ทดลองอยู่เรื่อย ๆ เปลี่ยนระดับความสูง เปลี่ยนระดับความเร็วลมของพัดลมที่มาปะทะตัวยาน จนรอบการแข่งขันสุดท้ายมาถึง ผลปรากฏกลุ่มผมชนะไปด้วยเวลาฉิวเฉียดมาก ต้องตัดสินโดยใช้ภาพ Slow mode จากกล้อง iPhone

    3.2.1……

    หลังจากนั้นเป็นการแก้ปัญหาต่อเป็นรอบที่สอง จากตอนแรกเป็นการขนส่งของโดยใช้อากาศยาน รอบนี้เป็นการสร้างเรือ กลุ่มไหนสามารถสร้างเรือที่บรรทุกสิ่งของได้มากที่สุดชนะ ปรากฏทีมผมตกรอบแรกเลยครับ เพราะตัวเรือไม่มั่นคงจากการวางดินน้ำมันที่ไม่เท่ากันในแต่ละด้าน

    ลุ้นตัวโก่ง

    หลังจากจบทักษะด้านแก้ปัญหาไปในช่วงเช้า ช่วงบ่ายเริ่มเข้าสู่ความจริง เมื่อวิทยากรให้โจทย์คิดผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทักษะทางด้าน STEM มาใช้สร้างผลิตภัณฑ์นั้น กลุ่มผมเลือกทำแอปพลิเคชั่นเกี่ยวกับคนแก่ ที่ให้บริการครอบคลุมทุกด้าน ตั้งแต่การรักษาพยาบาล คนดูแล โซเชียลเฉพาะผู้สูงอายุ รวมไปถึงแหล่งทำกิจกรรมเฉพาะกลุ่ม

    ทำอะไรดี ?

    หลังจากนั่งหาข้อมูล ทำสไลด์ ทำตัวอย่างเว็บไซต์ ร่าง UI ของแอปใน PowerPoint ไปได้เพียงแป็ปเดียว พี่ ๆ ที่คุมสันทนาการก็มอบหมายโจทย์เพิ่ม ให้คิดการแสดงมาหนึ่งชุดโจทย์คือ บุบเพสันนิวาส อินโนเวชั่น

    ว๊อททท เอาบุพเพมาร่วมกับนวัตกรรม เวลาตอนนั้นเหลือเพียงชั่วโมงเศษก็จะถึงช่วงเวลาการแสดง ทั้งยังมีโปรเจคที่ได้ไปเมื่อตอนบ่ายค้างอยู่ที่ตัวอีก 80% ตอนนั้นมีความรู้สึกไฟร่นก้นเป็นอย่างมาก อีกอันก็อยากทำให้ดีที่สุด แต่อันนี้จะทิ้งเลยก็ไม่ได้ โชคดีที่ว่าเพื่อน ๆ ในกลุ่ม 8 คน มีอย่างน้อย 3 คนที่ชมละครเรื่องนี้ เลยทำให้สามารถต่อบทกันได้อย่างรวดเร็ว

    ผมได้มีส่วนร่วมการแสดง โดยรับบทเป็นจ้อย ออกมาแค่ฉากเดียว นอกนั้นคุมภาพที่ปรากฏบนจอโปรเจคเตอร์

    แม่หญิงการะเกดกับบ่าวทั้งสอง

    การแสดงเสร็จสิ้นลงไป ก็เข้าสู่พิธีเทียน ผมแอบชอบพิธีเทียนของที่นี่นะ เพราะเขาให้ทุกคนพูด สิ่งที่อยากจะพูดออกมา ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกในใจ การโดนร้องขอ/บังคับให้เข้าประกวด ทุกคนได้พูดสิ่งที่อัดอั้นตันใจมาตลอด 2 วัน ทำให้ผู้เข้าร่วมประกวดทุกคนได้สนิทและได้รับรู้ความคิดของเพื่อนผ่านกิจกรรมนี้ครับ

    พิธีเทียน

    18 มีนาคม 2561 (วันสุดท้าย)

    ถามมว่าเมื่อคืนได้นอนไหม ตอบได้อย่างเต็มปากว่า 20 นาที เพราะนั่งปั่นโปรเจกสุดท้ายที่ต้องมานำเสนอในวันนี้ เรียกได้ว่าซึ้งกับพิธีเทียนเสร็จ เทียนนั้นก็ร้อนมารนก้นต่อ ทำให้ไม่ได้หลับ ไม่ได้นอน

    การนำเสนอผ่านพ้นไปด้วยดีครับ ได้รับคำชมจากคณะกรรมเยอะพอสมควร สาเหตุเป็นเพราะแผนธุรกิจ แผนนวัตกรรมชิ้นนี้ เป็นผลงานรวมกันของ 3 คน ซึ่งมาจากต่างคณะกัน เมื่อสามารถนำทักษะของเพื่อนแต่ละคนออกมาใช้ ผลงานก็เลยออกมาดี (นี่มันคือทีมเวิร์กชัด ๆ)

    Elder Care

    หลังจากนำเสนองานเสร็จสิ้น ก็เป็นรับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน และเก็บของกลับมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์เพื่อแยกย้ายกันกลับบ้านต่อไป

    เล็กแอนเดอะแก๊งค์

    ไฟนอลโปรเจกนพรัตน์ทองคำ (คะแนนเยอะสุด)

    การแข่งขันก้าวเข้ามาสู่ช่วงสุดท้าย โจทย์มันก็คือการนำ STEM มาสร้างนวัตกรรมอะไรบางอย่างที่อาจจะเคยมีมาแล้วแต่มาพัฒนาให้ดีขึ้น หรือไม่เคยเกิดขึ้นบนโลกใบนี้เลย ผมจำได้ว่าผมนึกไม่ออกว่าจะทำอะไรดี เสียเวลาไปหลายวันมาก จนกระทั้งผมจะต้องไปติดต่อขอใช้สถานที่ที่สถานีตำรวจบางใหญ่ ผมเดินผ่านร้านขายพวงหรีด ไอเดียผมก็เข้ามาในหัวทันทีว่า จะทำเป็นพวงหรีดดิจิทัลดีไหม เพราะพวงหรีดปัจจุบันที่เป็นดอกไม้ใช้แล้วก็ทิ้งไป พวงหรีดที่เป็นผ้าห่มใครจะกล้าเอามาห่มบ้าง สู่เป็นพวงหรีดดิจิทัล เขียนความรู้สึกได้ ออกแบบดอกไม้ได้ เปลี่ยนพื้นหลังก็ยังได้อีก งานศพไหนมีก็คงจะดูดีไม่เบา

    ผมก็เลยเอาไอเดียนี้ไปปรึกษาพ่อ พ่อบอกผมมาว่า “พวงหรีดมันไม่ได้มีแค่ดอกไม้กับผ้าห่มนะ นั่นมันเป็นรุ่นแรก ๆ เดี๋ยวนี้เขานิยมเอาพัดลมมาผูกโบว์เป็นพวงหรีดแล้ว พอจบงานก็เอาพัดลมนั้นบริจาคให้วัด ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อไป” หลังจากได้ฟังความเห็นจากพ่อ ไอเดียทั้งหมดผมก็เลยยุติทิ้งมันไป

    คิดใหม่ ทำใหม่ ปรึกษาอาจารย์ในคณะรวมทั้งรุ่นพี่ที่จบไปแล้วว่าควรทำอะไรดี อาจารย์ที่สอนผมในเทอมนั้นเลยช่วยตบให้เดียให้ กลายมาเป็นเครื่องมือประชาสัมพันธ์ที่ทุกคนเข้าถึงได้ ปกติเวลาจะลงโฆษณาในหนังสือ โทรทัศน์ เราจำเป็นจะต้องติดต่อสถานที่เหล่านั้นโดยตรง หากแต่เราต้องการจะประหยัดเวลาเราก็จำเป็นจะต้องจ้างเอเจนซี่ให้เขาจัดการให้ซึ่งก็มีราคาที่สูง เครื่องมือนี้ผู้ลงโฆษณา/ลงข่าว สามารถเลือกปลายทางได้เลยว่าต้องการจะลงกับใคร ในเรทราคาเท่าไหร่ ซึ่งเราครอบคลุมทั้งสื่อเก่า สื่อใหม่ และสื่อบุคคล (Influence) จึงกลายมาเป็นผลงาน Linkpost : A new era of PR tool

    ลิงก์โพสต์

    วันนำเสนองานไฟนอลโปรเจก

    เป็นอีกวันที่ตื่นเต้นเป็นอย่างมาก เพราะได้ข่าวมาว่าคณะกรรมที่จะมาให้คะแนนในรอบนี้เป็นระดับ รศ.ดร. , ดร. หลายท่าน รวม ๆ แล้วคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒินั่งอยู่หน้าผมทั้งหมด 5 ท่าน ประกอบกับพี่ปุ๊เลือกให้ผมนำเสนอเป็นลำดับแรกความตื่นเต้นที่มีอยู่แล้วก็ทวีคูณเพิ่มขึ้นไป

    แต่เนื่องด้วยที่ผมซ้อมนำเสนอและตอบคำถามกับอาจารย์ณัทธสิฐษิ์ สิริปัญญาธนกิจ อาจารย์ประจำคณะนิเทศที่เคยเป็นนพรัตน์ทองคำฝ่ายชายมาก่อนแล้ว ทำให้ผมยังพอมีความมั่นใจอยู่บ้าง สำคัญที่สุดอาจารย์ได้แนะนำให้ผมปริ้นสไลด์ส่งกรรมการด้วย เพราะอาจารย์คิดว่าจะมีผู้เข้าประกวดไม่กี่คนเท่านั้นที่จะปริ้นส่งคณะกรรมการ

    เอกสารประกอบการนำเสนอ
    เล็ก เธอนำเสนอเป็นลำดับที่หนึ่งนะ พี่ปุ๊กล่าว

    ระยะเวลาในการนำเสนอถูกกำหนดไว้ที่ 10 นาที ไม่รวมเวลาถามตอบของคณะกรรมการ เมื่อผมนำเสนอจบลง คำถามถาโถมเข้ามาเยอะอย่างมาก เช่น ใช้ทักษะ STEM ด้านใดมาคิดงานนี้บ้าง, อินโฟว์เควสก็มีอยู่แล้วของเธอมีดีอะไร, จงบอกมาว่าในช่วงแรกการตลาดของเธอจะเป็นอย่างไหร่ เมื่อบริษัทส่วนใหญ่เขาจ้างเอเจนซี่ที่มีความสามารถสูงอยู่แล้ว, งานนี้จะหาทีมงานได้อย่างไร, จงบอกมา 3 เหตุผลที่ทำให้ลิงก์โพสต์จะต้องปิดตัวลง ฯลฯ

    สติสำคัญมากครับสำหรับการนำเสนอวันนี้ เพราะถ้าเราฟังคำถามไม่ละเอียด อาจทำให้ตอบเราไม่ตรงกับคำถามได้

    เตรียมโดนเชือด

    วันประกาศผล

    ในที่สุดวันนี้ก็มาถึง จำได้ว่าก่อนออกจากหอตัวเอง ยังนั่งอารมณ์ดีดูข่าวทรัมป์กับคิมจับมือกันอยู่ ตอนเช้าของวันนี้ผมมีเรียนอยู่หนึ่งวิชาครับ หลังจากเรียนเสร็จผมชวนเพื่อน ๆ สนิทอีก 4 คนมาร่วมลุ้นไปกับผมด้วย งานเริ่มขึ้นช่วงแรกเป็นการแสดงของนักศึกษาผู้เข้าร่วมประกวด นั้นก็คือการร้องเพลงประจำมหาวิทยาลัยและการเต้นคุกกี้เสี่ยงทาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมอยากลองเต้นมานานละ จนเวทีนี้ให้โอกาสผมได้ซ้อม ได้เต้นต่อหน้าท่านอธิการบดีและอาจารย์

    แอบมองเธออยู่นะจ๊ะ

    และแล้วเวลาที่คอลอย เอ้ยยย ! รอคอยก็มาถึง พิธีกรเริ่มประกาศรางวัลต่าง ๆ ซึ่งมีอยู่หลายรางวัลมากครับ จนมาถึงประกาศผลรางวัลสุดท้าย “นพรัตน์ทองคำฝ่ายชาย ประจำปี 2561 จะได้รับทุนการศึกษาในระดับปริญญาโท ได้เงินรางวัล 10,000 บาท โล่ สายสะพาย และเหรียญพระสิทธิธาดาเป็นของรางวัล ได้แก่หมายเลข 36 นายดำรงศักดิ์ สัตบุตร จากคณะนิเทศศาสตร์ สาขาวิชาการประชาสัมพันธ์”

    รับรางวัล

    ในตอนแรกผมมีความมั่นใจที่จะได้รางวัลนี้ไม่ถึงครึ่งหนึ่งนะครับ เพราะว่าเพื่อน ๆ ในฝ่ายชายทุกคนเก่งและโหดมาก คิดภาพง่าย ๆ ทุกคนที่เกรดเฉลี่ยเกิน 3.00 เป็นเด็กกิจกรรม ไม่ตกวิชาภาษาอังกฤษ ไม่มีความประพฤติเสีย จากทั่วทั้งมหาวิทยาลัยมาเข้าร่วมประกวด เพราะฉะนั้นผลงานทุกคนที่ออกมาล้วนอลังการงานสร้างทั้งหมด

    เคล็ดลับของความสำเร็จก็คงหนีไม่พ้นความตั้งใจครับ ตั้งใจทำในทุกกิจกรรม ใส่ใจในทุกรายละเอียด ถึงแม้เราจะไม่ได้รางวัลแต่ก็ถือว่าเราได้ทำเต็มที่สุดความสามารถของเราแล้ว อย่างน้อยที่สุดเราก็จะได้ไม่ต้องมาเสียใจในภายหลังว่าทำไมไม่ทำอันนี้

    เพื่อน ๆ ที่คอยมาให้กำลังใจ
    รางวัลทั้งหมดที่ได้รับ 1.) นพรัตน์ทองคำฝ่ายชาย 2.) ทักษะการนำเสนอดีเด่น และ 3.) ชมเชยนวัตกรรมสร้างสรรค์
    เพื่อน ๆ ผู้เข้าร่วมประกวดในปีนี้

    ภาพ : สายงานกิจการนักศึกษามหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (2561)