ป้ายกำกับ: Cha-Am

  • ประสบการณ์เตรียมงาน Barcamp CHA-AM ในเวลา ~12 ชั่วโมง

    ประสบการณ์เตรียมงาน Barcamp CHA-AM ในเวลา ~12 ชั่วโมง

    Barcamp CHA-AM คือวาระซ่อนเร้นที่แฝงตัวอยู่ในกิจกรรมค่าย Thailand ICT Camp 2019 คนเข้าร่วมไม่รู้มาก่อน (เพราะใช้ชื่ออื่น) คนจัดก็เพิ่งไหวตัวทันตอน 12 ชั่วโมงสุดท้าย (เพิ่งมีเวลา) งานไฟไหม้จึงบังเกิดขึ้น

    เมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ดรศ ได้มีโอกาสร่วมงานกับพี่ๆ มูลนิธิกองทุนไทย ในการเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือการดำเนินกิจกรรมค่าย Thailand ICT Camp 2019 มีหน้าที่หลักคือคอยช่วยเหลือวิทยากรประจำห้อง อำนวยความสะดวกให้กับผู้เข้าร่วมค่าย ฯลฯ

    ประเด็นของค่ายนี้คือ ทำให้ทุกคน ไม่ว่าจะมาจาก หน่วยงานของรัฐ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร หรือ ผู้สนใจทั่วไปก็ตาม ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ พร้อมทั้งเสริมทักษะทางด้านดิจิทัลเพื่อนำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม ต่อชุมชน หรือแม้กระทั้งองค์กรของตนเอง ผ่านการอบรมจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงได้มีโอกาสลงมือปฏิบัติจริง (Workshop) ทำผลงานออกมาให้ทุกคนได้ชมกันจริงๆ

    ดรศ ลองนิยาม

    หากไล่เลียงตามกำหนดการแล้ว ช่วง 2 วันแรก จะเน้นเป็นการเข้าอบรม ฟังบรรยาย รวมถึงทำ Workshop ตามตารางที่ทีมงานได้วางเอาไว้ แต่วันที่ 3 ช่วงบ่ายในกำหนดการระบุไว้ว่า “หัวข้อของผู้เข้าร่วม” ซึ่งในส่วนนี้พี่เขาอยากให้งานออกมาอารมณ์ประมาณ Barcamp ที่มีการเสนอหัวข้อ มีการแบ่งห้องสดๆ วางสล๊อตสดๆ กันหน้างาน

    ด้วยความที่เคยร่วมงานกับมูลนิธิกองทุนไทยในการจัดงาน Barcamp Bangkok มาก่อน พี่ๆ จึงอยากให้ ดรศ และเพื่อนผมที่ชื่อกานต์ ลองเป็นแม่งาน Barcamp แบบเต็มตัว อยากทำอะไร วางตารางยังไง โลโก้เป็นแบบไหน เชิญจัดเต็มได้เลย

    12 ชั่วโมงก่อนถึงเวลางาน

    20.00 น. ค่ำคืนนี้เราทำอะไรไม่ได้มาก เนื่องจากข้อมูลใหม่ที่ได้รับมาคือ จะมีการขยายห้องบรรยายจากเดิมที่มีอยู่เพียง 3 ห้อง ให้กลายเป็น 9 ห้อง ผมกับกานต์ ก็เลยตัดสินใจที่จะดีไซน์ตารางกำหนดการให้กิจกรรมนี้เด่นขึ้น แต่ยังไม่แบ่งเวลาละเอียด เพราะต้องรอยืนยันจากพี่ๆ ก่อน

    Before Barcamp
    จะต้องทำให้ Barcamp CHA-AM เด่นที่สุดในกำหนดการ

    9.00 น. ของวันถัดมา พี่โต้ง MC ประจำค่ายก็โหมกระหน่ำประชาสัมพันธ์อย่างหนัก ทั้งเล่าความหมาย ประสบการณ์ รวมถึงมีการโชว์เสื้อฟรี เพื่อที่จะกระตุ้นให้คนสนใจและร่วมเสนอหัวข้อที่อยากจะพูด ผมกับกานต์จึงเตรียมบอร์ดให้สำหรับเสนอหัวข้อ

    อยากพูดเรื่องอะไรเขียนเลย! / อยากฟังเรื่องอะไรโหวตเลย!

    หลังจากนั้นพวกผมก็กลับมาที่ห้องทำงาน เพื่อที่จะมาออกแบบโลโก้ต่อให้เสร็จ ข้อกำหนดในการใช้ Logo ของ Barcamp คือ จะต้องคง “ดวงไฟ” (flame) ไว้ ส่วนอื่นสามารถออกแบบได้อิสระ

    Flame ใน Logo Barcamp

    พวกผมเห็นตรงกันว่า ดวงไฟ ดูไปดูมา มันก็คล้ายๆ กับคลื่นทะเล จึงตั้งใจจะทำให้ตรงนี้เหมือนคลื่นกำลังซัดเข้าหาฟัง ส่วนคำว่า Barcamp ตัว C น่าจะเอาเก้าอี้ชายหาดมาแทนได้ Logo จะได้ดูมิติและดูมีอะไรมากขึ้น ผลสรุปจึงออกมาเป็นแบบนี้ครับ

    Barcamp CHA-AM

    หลังจากพี่ๆ ไฟเขียว พวกผมก็โปรโมทงานนี้ต่อ ทั้งในโลกออนไลน์ (โพสต์กลุ่ม) และโลกความจริง (ปริ้นติดหน้าห้อง ยึดครองสถานที่จัดงาน)

    Barcamp CHA-AM
    ป้ายหน้าห้อง
    ผู้คนเริ่มมาโหวตหัวข้อที่อยากจะฟังกันแล้ว

    ความยากต่อมา ก็คือการแบ่ง Slot เวลา เพราะมันต้องนำเวลามาหารกับตารางใหญ่ มาหารกับจำนวนห้อง แล้วยังต้องบวกเวลากันชนที่เผื่อไว้ให้คนเดินเปลี่ยนห้องด้วย แต่โชคดีที่ว่าพี่ชัย เทพแห่งการแบ่ง Slot เวลา Barcamp Bangkok ลงมาช่วยแบ่ง สรุปแล้วมีทั้งหมด 3 ห้อง ห้องละ 4 หัวข้อ รวมทั้งหมดได้ 12 หัวข้อ

    จัดหัวข้อใส่ใน Slot
    จัดเรียงเป็นตารางให้อ่านง่ายขึ้น

    ช่วงนี้การทำงานของอาสาสมัครเริ่มง่ายขึ้นแล้ว เพราะหน้าที่ของเราจะเหลือแค่เพียงตรวจสอบความต้องการของผู้พูดในแต่ละห้องว่าต้องการอะไรเพิ่มไหม อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สามารถใช้งานได้ปกติหรือเปล่า ซึ่งทุกอย่างก็ออกมาราบรื่น

    การลับสมองของมนุษย์กับ Boardgame
    (วรรณยุกต์) ไตรยางค์ไทย – อีสาน
    Let’s Shoot! เพราะถ่ายภาพไม่ใช่แค่กดชัตเตอร์

    สุดท้ายแล้วขอขอบคุณพี่ๆ ทุกท่านที่ให้โอกาสเด็กน้อยสองคน (ดรศ และกานต์) ได้ลองควบคุมงานระดับ Barcamp ขอบคุณพี่พูที่คอยดูแลพวกผมอย่างดีตลอดระยะเวลา 6 วัน 5 คืน ขอบคุณพี่โต้งที่คอยให้คำแนะนำในการดำเนินงาน ในการจัดกิจกรรมต่างๆ ขอบคุณพี่ชัยที่คอยซัพพอร์ตเรื่องไอทีและการปริ้นทำให้งานดำเนินการได้อย่างไม่สะดุด ขอบคุณพี่เมย์ดี้ พี่เจ พี่โป้ง พี่เบนซ์ ที่คอยช่วยเหลือและให้กำลังใจ ขอบคุณทุกท่านจากใจจริงครับ

    ภาพเบื้องหลังจากผู้เข้าร่วมค่าย
    กลับบ้าน ยิ้มได้อย่างสบายใจ

    ภาพ : อนุรักษ์ วงศ์กาฬสินธุ์, Patcharin Srewilai